ลูกจ้างที่เป็นผู้เยาว์ขับรถขนของชนผู้อื่น และไม่มีปัญญาชดใช้ค่าเสียหาย คนถูกชนจะเรียกร้องจากนายจ้างหรือพ่อแม่ของคนชนได้หรือไม่
ลูกจ้างที่เป็นผู้เยาว์ขับรถขนของชนผู้อื่น และไม่มีปัญญาชดใช้ค่าเสียหาย คนถูกชนจะเรียกร้องจากนายจ้างหรือพ่อแม่ของคนชนได้หรือไม่

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินข่าวที่คนขับรถชนผู้อื่นจนได้รับความเสียหาย แต่ผู้ขับเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถหรือเป็นผู้เยาว์ที่ไม่มีความสามารถจะชดใช้ค่าเสียหายได้ แบบนี้ผู้เสียหายจะทำอย่างไร ผู้เสียหายจะเรียกให้นายจ้างหรือพ่อแม่ ผู้ปกครองของผู้เยาว์มาร่วมรับผิดด้วยได้หรือไม่ เราจะมาดูกันครับ
.
มีหลักกฎหมายหนึ่งที่ทั้งประเทศไทยและสากลใช้กันคือ Vicarious liability หรือหลักความรับผิดทางละเมิดของผู้อื่น หมายถึง เมื่อเกิดความเสียหายจากการละเมิดขึ้น นอกจากผู้ที่ทำละเมิดต้องรับผิดแล้ว ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไปด้วยทั้งที่เขาไม่ได้ร่วมกระทำหรือรู้เห็นด้วยเลย กฎหมายก็บังคับให้ต้องรับผิดด้วย ซึ่งกฎหมายไทยมีกำหนดไว้ดังนี้
.
1.นายจ้างหรือตัวการ ต้องรับผิดในการละเมิดของลูกจ้างหรือตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 และมาตรา 427 หมายความว่า หากลูกจ้างหรือตัวแทนของเราไปทำละเมิดให้ผู้อื่นเสียหาย นายจ้างหรือตัวการต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายไปด้วย แม้นายจ้างหรือตัวการจะไม่ได้สั่งหรือรู้เห็นเลยก็ตาม แต่การทำละเมิดของลูกจ้างหรือตัวแทนต้องทำไปในการที่ถูกจ้างให้ทำงานหรือให้ทำการแทน
.
เช่น นาย A ถูกจ้างมาเป็นพนักงานขับรถของนาย B นายจ้าง ต่อมา นาย A ขับรถไปส่งสินค้าของร้านนาย B แล้วไปชนรถนาง C เสียหาย กรณีนี้ นาง C ฟ้องเรียกให้นาย A ผู้ขับรถกับนาย B นายจ้างรับชดใช้ค่าเสียหายได้
.
แต่ถ้านาย A มาขอยืมรถนาย B นายจ้างไปเที่ยวในวันหยุดแล้วชนนาย F บาดเจ็บ แบบนี้ไม่ใช่การทำละเมิดในการจ้าง แต่เป็นการละเมิดจากการทำส่วนตัวของนาย A เอง นาย B นายจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นาย F
.
2.ผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องรับผิดในการละเมิดของผู้รับจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างได้สั่งให้ทำ หรือจากคำสั่งเดิมที่ผู้ว่าจ้างสั่งไว้ หรือผู้ว่าจ้างเลือกผู้รับจ้างไม่เหมาะสม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428
.
ผู้ว่าจ้าง ต่างจากนายจ้าง ตรงที่ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจสั่งการผู้รับจ้างได้ ผู้รับจ้างมีอิสระในการทำงานที่รับจ้างให้สำเร็จตามสัญญา แล้วผู้ว่าจ้างจ่ายค่าจ้างตอบแทนไป ดังนั้น หากผู้รับจ้างทำงานที่จ้างแล้วไปละเมิดผู้อื่น โดยปกติผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ หากความเสียหายนั้นเกิดจากคำสั่งของผู้ว่าจ้าง
.
เช่น นาย A จ้างให้นาย B และทีมงานมาตัดต้นไม้ใหญ่หน้าบ้าน หากนาย B กับทีมงานตัดกิ่งไม้ใหญ่แล้วตกใส่รถนาง C เสียหาย โดยหลักนาย A ผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดกับนาย B กับพวก แต่ถ้าก่อนตัดนาย B แจ้งนาย A แล้วว่าตัดไม่ได้เพราะเสี่ยงที่กิ่งไม้จะหล่นใส่รถยนต์ของนาง C เสียหายได้ แต่นาย A ผู้ว่าจ้างก็ยังยืนยันให้ตัดเลยไม่มีปัญหา แบบนี้ เมื่อเกิดเสียหายแก่รถของนาง C นาย A ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดด้วย
.
จากคำสั่งที่ตนได้สั่งให้นาย B ผู้รับจ้างทำ หรือนาย A ไปจ้างนาย F ที่ไม่เคยตัดต้นไม้เลย มาตัดไม้แล้วต้นไม่โค่นไปทับรถนาง C เสียหาย แบบนี้ นาย A ผู้ว่าจ้างก็ต้องร่วมรับผิดกับนาย F ผู้รับจ้างไปด้วย เนื่องจากนาย A เลือกผู้รับจ้างที่ไม่เหมาะสมกับงานที่ว่าจ้าง
.
กรณีที่นายจ้างหรือตัวการได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว นายจ้างหรือตัวการมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายที่จ่ายไปนั้นจากลูกจ้างหรือตัวแทนได้ตามมาตรา 426 แต่กรณีผู้ว่าจ้างที่ชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้รับจ้างไป ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินคืนจากผู้รับจ้างที่ทำละเมิดได้
.
3.พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ นายจ้าง ผู้ที่รับดูแลผู้เยาว์และคนไร้ความสามารถ หากผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถไปทำละเมิดเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ นายจ้าง ผู้ที่รับดูแลต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายไปด้วย เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว หรือกรณีครูอาจารย์ นายจ้าง ผู้ที่รับดูแล เว้นแต่ผู้เสียหายพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 และมาตรา 430
.
เช่น ด.ช.A ขับรถมอเตอร์ไซด์ที่พ่อแม่ซื้อให้ไปชนนาง B บาดเจ็บ นอกจากด.ช.A ต้องรับผิดแล้ว พ่อแม่ของด.ช. A ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายแก่นาง B ด้วย เว้นแต่ พ่อแม่ด.ช.A จะพิสูจน์ได้ว่าด.ช.A ไม่ได้อนุญาตให้ด.ช.A ขับรถและเก็บรักษากุญแจรถมอเตอร์ไซด์อย่างดีแล้ว แต่ด.ช.A ยังขโมยไปได้ แบบนี้พ่อแม่อาจไม่ต้องร่วมรับผิด แต่ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่นำสืบต่อศาล
.
เมื่อพ่อแม่ หรือครูอาจารย์ นายจ้าง ผู้ที่รับดูแลได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว ก็ยังพ่อแม่ หรือครูอาจารย์ นายจ้าง ผู้ที่รับดูแลฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายที่จ่ายไปจากผู้เยาว์ได้ ตามมาตรา 431 แต่ในทางปฏิบัติพ่อแม่คงจะไม่ไล่เบี้ยเอาเงินคืนจากลูกตัวเอง
.
อีกทั้งกรณีพ่อแม่ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) และมาตรา 78 ได้กำหนดให้บิดามารดามีความผิดทางอาญาหากปรากฏว่าบิดามารดาได้บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้บุตรผู้เยาว์ประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้บุตรผู้เยาว์มีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ส่งผลให้บิดามารดาส่วนหนึ่งได้หันมาสนใจควบคุมดูแลบุตรของตนมากขึ้น อันเป็นมาตรการทางอาญาเพื่อป้องกันการกระทำความผิดของเด็กมากขึ้น