นายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างในกรณีใดบ้าง
นายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างในกรณีใดบ้าง

ท่านผู้อ่านเคยถูกนายจ้างของท่านหักเงินเดือนบ้างหรือเปล่าครับ วันนี้เราจะมาดูกันว่านายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างในกรณีใดบ้าง
.
ในหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น มีหลักสำคัญอยู่หลักหนึ่งนั่นก็คือ หลักคุ้มครองรายได้ของลูกจ้าง (Guarantee of Payment) อันได้แก่ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าทำงานล่วงเวลา และการประกันรายได้
.
ซึ่งการประกันรายได้ โดยหลักทั่วไปนั้น นายจ้างไม่อาจหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างได้ เนื่องด้วยอาจทำให้ลูกจ้างไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เช่น ตามพระราชบัญญัติคุมครองแรงงาน ฯ มาตรา 76 และ 77 กำหนดว่านายจ้างห้ามหักเงินเดือนลูกจ้าง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย อันได้แก่
.
การหักเงินเดือนเพื่อชำระภาษี ณ ที่จ่าย อันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของนายจ้าง หรือ การหักเงินเดือนเพื่อบำรุงสหภาพแรงงาน
.
หรือกรณีหักเงินเดือนชำระหนี้สหกรณ์/หนี้สวัสดิการที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว เช่น นายจ้างให้เงินกู้ไม่เสียดอกเบี้ยแก่ลูกจ้าง และมีข้อตกลงว่าให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างมาชำระหนี้เงินกู้นี้ได้
.
หรือกรณีที่นายจ้างเรียกค่าประกันการเข้าทำงาน ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้นายจ้างเรียกค่าประกันการเข้าทำงานได้ทุกกรณี กรณีที่นายจ้างจะเรียกเงินค่าประกันการทำงานได้ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มรองแรงงาน ฯ ประกอบกับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการในการเรียกรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน
.
ซึ่งโดยหลักนายจ้างจะเรียกหลักประกันการทำงานไม่ได้ แต่นายจ้างจะเรียกได้เฉพาะในตำแหน่งงานที่กฎหมายยกเว้นเท่านั้น ได้แก่ ตำแหน่งการเงินและบัญชี เนื่องจากพนักงานในตำแหน่งนี้ใกล้ชิดกับเงินทองและผลประโยชน์ของนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างอาจยักยอกเงิน ทำการทุจริตหรือทำการประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายต่อนายจ้างได้ หรือ พนักงานขับรถ/ยานพาหนะอื่นที่อาจไปก่ออุบัติเหตุอันทำให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบด้วย หรือพนักงานขายที่มีทรัพย์สินของนายจ้างอยู่ในครอบครอง เป็นต้น กรณีเหล่านี้นายจ้างเรียกค่าประกันการทำงานได้
.
โดยการเรียกค่าประกันการทำงานนั้นอาจเรียกเป็นการค้ำประกันด้วยบุคคล หรือด้วยทรัพย์สิน หรือการวางเงินประกัน ก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกค่าประกันด้วยวิธีใด กฎหมายกำหนดให้นายจ้างเรียกได้เป็นจำนวนไม่เกินกว่าค่าจ้าง 60 วัน หรือเงินเดือน 2 เดือน ทั้งนี้ลูกจ้างอาจชำระค่าประกันการทำงานเป็นการวางเงินประกันทั้งก้อน หรือตกลงกับนายจ้างให้หักค่าประกันการทำงานจากเงินเดือนแต่ละเดือนจนครบก็ได้ อันเป็นการหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างที่กฎหมายอนุญาต
.
อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างชำระค่าประกันการทำงานได้ไม่เกินครั้งละ 10 % ของเงินเดือน และค่าประกันการทำงานนี้ ไม่ว่าลูกจ้างจะวางเงินทั้งก้อนหรือให้นายจ้างหักเงินค่าจ้าง นายจ้างต้องนำเงินดังกล่าวไปฝากบัญชีธนาคารในนามของลูกจ้างคนนั้น เพื่อลูกจ้างจะได้รับเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยคืน หลังสิ้นสัญญาจ้างกับนายจ้างแล้ว
.
ส่วนการค้ำประกันด้วยบุคคล หากนายจ้างตกลงต้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต่อนายจ้างอย่างลูกหนี้ร่วม หรือให้รับผิดเป็นเงินเกินกว่าค่าจ้างของลูกจ้าง 60 วัน สัญญาค้ำประกันการทำงานดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้
.
หากเป็นกรณีที่นายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่กล่าวข้างต้น นายจ้างไม่อาจหักได้ ถ้านายจ้างหักลูกจ้างอาจฟ้องศาลให้สั่งนายจ้างคืนเงินที่หักแก่ลูกจ้างพร้อมดอกเบี้ยได้ เช่น นายจ้างออกกฎระเบียบว่าพนักงานคนใดไม่มาทำงาน นายจ้างจะหักค่าจ้างรายวัน 2 เท่า แบบนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายยกเว้นให้นายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างได้
.
แต่กรณีนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เพื่อเป็นการทำโทษลูกจ้าง แบบนี้ไม่ถือเป็นการหักค่าจ้างของลูกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด นายจ้างหักได้ เพียงแต่การกระทำเช่นนี้อาจไม่ชอบตามหลักสากล ซึ่งอาจเกิดผลเสียหายต่อนายจ้างที่ทำการค้ากับต่างประเทศได้