อย่างไรจึงจะเป็นการป้องกันตัวตามกฎหมาย
.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 “ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
.
จากตัวบทข้างบน กฎหมายกำหนดลักษณะของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไว้ ได้แก่
.
1.ต้องเกิดภยันตรายขึ้นต่อตนเอง หรือผู้อื่นก็ได้ และจะเป็นภยันตรายที่จะประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพหรือชื่อเสียงของบุคคลก็ได้ เช่น จะถูกฆ่า, ทำร้ายร่างกาย, กักขัง, ข่มขู่, กระทำชำเรา หรือถูกหมิ่นประมาท เป็นต้น หรือเป็นภยันตรายต่อทรัพย์สินของตนหรือของผู้อื่นก็ได้ เช่น ทรัพย์สินจะถูกเผา, ถูกลัก, วิ่ง, ชิง หรือปล้น เป็นต้น
.
2.ภยันตรายนั้นต้องละเมิดต่อกฎหมาย โดยภยันตรายนั้นเป็นการกระทำที่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดอาญา เช่น การฆ่า การลักทรัพย์ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการกระทำที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้กระทำมีสิทธิทำได้ เช่น การที่ตำรวจจับโดยมีหมายจับ, การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดทรัพย์ตามคำพิพากษา หรือราษฎรทั่วไปเข้าจับกุมตามกฎหมาย เป็นต้น เช่นนี้ หากเราไปชกตำรวจไม่ยอมให้จับ หรือขัดขวางไม่ยอมให้ยึดทรัพย์ แบบนี้เราไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้
.
3.ภยันตรายนั้นต้องใกล้จะถึงตัวด้วย เช่น คนร้ายพกปืนย่องเข้ามาในบ้าน หรือมีคนเข้ามาหาเรื่องประชิดตัว รวมถึงภยันตรายถึงตัวแล้ว และภยันตรายยังไม่ผ่านไปด้วย หากภยันตรายผ่านพ้นไปแล้ว เช่น ถูกคู่อริจะเข้ามาใช้มีดแทง แต่เราวิ่งหนีทัน ถือว่าภยันตรายผ่านพ้นไปแล้ว หากจากนั้นเรากลับบ้านไปเอาปืนมายิงคู่อริ เราจะอ้างป้องกันตัวไม่ได้แล้ว
.
4.การตอบโต้เพื่อป้องกันตัวนั้น ต้องพอสมควรแก่เหตุ โดยใช้หลักวิถีทางที่น้อยที่สุด และหลักได้สัดส่วนต่อภยันตราย คือกระทำน้อยที่สุดเพียงที่จำเป็นให้พ้นภัยและการตอบโต้ต้องมีความรุนแรงเท่ากับที่จะถูกประทุษร้าย เช่น เราจะถูกตีด้วยไม้ เราต้องตอบโต้ด้วยวัสดุใกล้เคียงกัน ทั้งท่อนไม้หรือท่อนเหล็ก และหากเป็นไปได้ต้องตีกลับเพียงให้ฝ่ายตรงข้ามหยุดการโจมตี หากเราตอบโต้โดยใช้ปืนยิง เป็นการเกินสัดส่วน หรือใช้ไม้ตี แต่ฝ่ายตรงข้ามหยุดโจมตีแล้ว เราก็ยังตีฝ่ายนั้นต่อไปอีกหลายครั้งไปที่หัวซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ จนเขาตาย แบบนี้เราจะอ้างป้องกันไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่วิถีทางที่น้อยที่สุด
.
ดังนั้นเมื่อเรากระทำครบองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความผิด
.
แต่หากเราทำการโต้ตอบโดยเกินสัดส่วนของภยันตราย และไม่ใช่วิถีทางที่น้อยที่สุด เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่าความจำเป็นเพื่อการป้องกัน
.
มาตรา 69 “ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”
.
สรุป กฎหมายให้สิทธิแก่ประชาชนในการกระทำตอบโต้ผู้ที่จะมาทำร้ายเราและผู้อื่น ทั้งต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน เพื่อป้องกันสิทธิของเราและผู้อื่น ไม่ให้ถูกละเมิดโดยผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้การป้องกันนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย