ความผิดจากการยิงผิดตัวด้วยเพราะพลาดไม่ตั้งใจ หรือเหตุตะลุมบอนมีความผิดไม่เท่ากัน
ความผิดจากการยิงผิดตัวด้วยเพราะพลาดไม่ตั้งใจ หรือเหตุตะลุมบอนมีความผิดไม่เท่ากัน

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินข่าวคนร้ายยิงผิดคน หรือตั้งใจยิงอีกคนแต่กระสุนแฉลบไปโดนอีกคน หรือยกพวกตีกัน แต่มีคนอื่นต้องโดนลูกหลงไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เช่นนี้ คนยิงจะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร วันนี้เราจะมาดูกันครับ
.
กรณีแรก เป็นเรื่องคลาสสิกเลยครับ ยิงผิดตัว ตั้งใจจะยิงคู่อริ แต่ดันจำผิดไปยิงคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย อย่างนี้จะใช้ข้ออ้างว่าไม่ตั้งใจจะยิงผู้เสียหายได้หรือไม่
.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 วางหลักว่า ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่
.
จากเนื้อความของมาตรานี้จะเห็นได้ว่า หากใครเจตนาทำผิดอาญาต่อบุคคลใดโดยสำคัญผิดว่าเป็นคนที่ตนตั้งใจจะกระทำ เช่น นาย A ตั้งใจจะยิงนาย B แต่มาเจอนาย C ที่แต่งตัวเหมือนกัน รูปร่างคล้ายกัน จึงสำคัญผิดว่านาย C เป็นนาย B นาย A จึงยิงนาย C ตาย แล้วนาย A ถูกจับได้ นาย A จะมาอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจยิงนาย C เพื่อไม่ให้ต้องรับผิดฐานฆ่านาย C ตายโดยเจตนาไม่ได้
.
กรณีต่อมา เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดเจตนากระทำต่อคนที่ตนตั้งใจไว้ แต่ผลจากการกระทำพลาดไปเกิดแก่อีกคนหนึ่ง เช่นนี้ ผู้กระทำจะอ้างว่ามันพลาดพลั้งไปโดนอีกคน เป็นเรื่องไม่เจตนา ไม่ขอรับผิดได้หรือไม่นั้น
.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 วางหลักว่า ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น …
.
จากตัวบทมาตรานี้ แสดงว่า แม้ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลต่ออีกคนหนึ่ง แต่กฎหมายก็บังคับให้ผู้กระทำต้องรับผิดในผลของการกระทำของตนต่อบุคคลนั้นโดยเจตนา จะอ้างว่ามันพลาดพลั้งไปไม่ได้เจตนา เพื่อให้ตนพ้นผิดหรือรับผิดน้อยลงไม่ได้ เช่น นาย A ตั้งใจยิงนาย B โดยยิงถูกนาย B ตายแล้ว แต่กระสุนทะลุไปโดนนาย C ที่ขับรถยนต์มาข้างหลังห่างไป 200 เมตร จนนาย C ตายไปด้วย แบบนี้นาย A ต้องรับผิดฐานเจตนาฆ่านาย B และต้องรับผิดฐานฆ่านาย C โดยเจตนาด้วย
.
กรณีต่อมา เป็นเรื่องที่นาย A เจตนายิงนาย B โดยนาย B เดินเกี่ยวก้อยมากับนางสาว C กระสุนจึงถูกทั้งนาย B และนางสาว C แฟนสาวตายทั้งคู่ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง วางหลักว่า กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
.
อย่างนี้นาย A ต้องรับผิดฐานฆ่านาย B โดยเจตนาประสงค์ต่อผล และรับผิดฐานฆ่านางสาว C โดยเจตนาเล็งเห็นผล คือ แม้นาย A จะเจตนายิงแต่นาย B แต่นาย A ย่อมเล็งเห็นได้ว่าการยิงนาย B ที่เดินติดชิดกับนางสาว C นั้นจะมีโอกาสถูกนางสาว C ไปด้วย แต่นาย A ก็ยังยิง จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาของนาย A ต่อนางสาว C ไปด้วย จะอ้างว่าเจตนาต่อนาย B คนเดียวเพื่อไม่ต้องรับผิดฐานฆ่านางสาว C โดยเจตนาไม่ได้
.
กรณีสุดท้าย เป็นกรณีที่คนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เข้าตะลุมบอนกัน หากเกิดลูกหลงไปโดนคนนอกที่ไม่รู้เรื่องด้วย
.
ประมวลกฎหมายอาญา วางหลักว่า ผู้ใดเข้าร่วมกลุ่มในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 294 วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ รับอันตรายสาหัสโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 299 วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
เช่น นาย A และพวกอีกสองคน ยกพวกเข้าต่อสู้กับกลุ่มของนาย B และพวกอีกสามคน แล้วหนึ่งในกลุ่มชุลมุนนั้นยิงปืนไปโดน นาง C แม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวระแวกนั้นตาย กับถูกนาย F ลูกค้าบาดเจ็บสาหัส แบบนี้ทั้งนาย A และนาย B กับพวกทุกคนต่างต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นตามมาตรา 294 วรรคแรกและมาตรา 299 วรรคแรก
.
และหากผู้ยิงเป็นนาย B เช่นนี้ นาย B ยังต้องรับผิดเพิ่มฐานฆ่านาง C โดยพลาดตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 และพยายามฆ่านาย F โดยพลาดตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 60 อีกด้วย
.
ดังนั้นสรุปว่า แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจกระทำผิดต่อคนที่ถูกลูกหลง เราก็ยังต้องรับผิดเสมือนหนึ่งว่าเราเจตนากระทำต่อผู้ถูกลูกหลงนั้นด้วย จึงเป็นข้อเตือนใจก่อนตัดสินใจทำอะไรที่เป็นความผิดอาญา ถึงแม้ผลจะไม่ได้เกิดตามที่เราเจตนาไว้ เราก็ต้องรับผลกรรมนั้นที่ก่อไว้เองด้วย