กรณีที่เราเจอคนที่กำลังได้รับบาดเจ็บหรือได้รับอันตราย ต้องการความช่วยเหลือ แต่เราไม่ช่วย จนเขาได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตาย เราจะมีความผิดใด ๆ ทางอาญา หรือไม่ อย่างไร วันนี้เราจะมาดูกันครับ
.
กรณีแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
เห็นได้ว่า ผู้ใด หากได้มาพบเข้ากับผู้อื่นที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต โดยอันตราย หรือภัยนั้นไม่ว่าจะเกิดจากอะไร ถ้าภัยอันตรายนั้นจะทำให้คนที่ได้รับภัยถึงตายได้ เช่น คนติดโควิดหายใจไม่ออกขอให้ช่วยพาส่งโรงพยาบาล คนขี่มอเตอร์ไซด์ล้มได้รับบาดเจ็บสาหัส คนกำลังจะจมน้ำ หรือคนติดในรถตู้ที่คว่ำและกำลังมีไฟลุกไหม้ เป็นต้น
.
หากปรากฏว่าผู้ที่เข้าพบเห็นคนประสบอันตรายอยู่ ซึ่งตนสามารถที่จะช่วยได้ โดยไม่ทำให้ตนเองต้องเสี่ยงได้รับอันตรายไปด้วย แต่ก็ไม่ช่วยผู้อื่นตามความจำเป็น เช่น เจอคนเป็นโควิดขอให้ส่งโรงพยาบาล เราอาจไม่ต้องเข้าไปสัมผัสคนนั้นเอง เพียงโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลก็มารับก็เป็นการช่วยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดแล้ว เป็นต้น กรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดว่าผู้นั้นมีความผิดทางอาญา อันเป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งการช่วยนั้น แม้สุดท้ายแล้วเราจะช่วยชีวิตผู้ประสบภัยไว้ไม่ได้ แต่หากเราได้พยายามช่วยสุดความสามารถแล้ว เราก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา
.
กรณีต่อมา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
.
เป็นกรณีที่เราเป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงที่จะต้องป้องกันมิให้เกิดภัยอันตรายขึ้น ซึ่งหากเราไม่ทำหน้าที่นั้น กฎหมายถือว่าเป็น “การกระทำทางอาญาโดยงดเว้น” หากเรามีเจตนาที่จะไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่โดยประมาท เราจะมีความผิดทางอาญา ทั้งนี้หน้าที่ดังกล่าว ได้แก่
.
1. หน้าที่ตามกฎหมาย เช่น คนขับรถบรรทุกเกิดรถเสียต้องจอดข้างทางเวลากลางคืน กฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดไฟท้ายหรือไฟฉุกเฉิน หรือทำสัญลักษณ์ให้รถคันอื่นรู้ หากคนขับไม่ทำ จนเป็นเหตุให้รถคันอื่นขับมาชนท้ายได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บล้มตายไป ก็เป็นความผิด หรือบิดามารดามีหน้าที่ที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 แต่กลับปล่อยไม่ให้นมบุตรทารกอด จนขาดอาหารตาย เป็นต้น
.
2. หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเฉพาะเจาะจง (โดยสัญญา) เช่น รับเลี้ยงเด็กเล็ก รับดูแลคนป่วยหรือคนชรา หรือมีหน้าที่เป็น Life Guard ดูแลเด็กในสระว่ายน้ำ หรือรับหน้าที่เป็นดูแลความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เป็นต้น ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
.
3. หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆของตน ได้แก่ การกระทำของตนที่อาจก่ออันตรายแก่ผู้อื่นได้ ตนจึงต้องมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายขึ้น เช่น เราเห็นเด็กเล็กจะข้ามถนน จึงพาเดินข้าม แต่พอถึงกลางถนนกลัวข้ามไม่พ้น เราเลยวิ่งกลับข้างทางโดยปล่อยเด็กเล็กไว้กลางถนน หากเด็กถูกรถชนตาย เราจะมีความผิดฐานกระทำงดเว้นโดยประมาทให้เด็กถึงแก่ความตาย ตามป.อ.มาตรา 291 ประกอบมาตรา 59 วรรคท้าย เป็นต้น
.
4. หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง ได้แก่ ผู้กระทำไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับผู้เสียหายในลักษณะที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เช่น ป้ารับหลานที่เป็นเด็กเล็กมาเลี้ยง ป้าไม่มีหน้าที่รับเลี้ยงหลานโดยกฎหมาย หรือโดยสัญญา หรือโดยการกระทำครั้งก่อนของตน แต่เมื่อรับเลี้ยงแล้ว ป้าจะมีหน้าที่จากความสัมพันธ์พิเศษที่เป็นญาติกัน หากป้าประมาทไม่ดูแลหลาน ปล่อยให้หลานวิ่งเล่นคนเดียวจนตกน้ำตาย ป้าก็มีความผิดอาญาฐานกระทำงดเว้นโดยประมาทให้เด็กถึงแก่ความตาย ตามป.อ.มาตรา 291 ประกอบมาตรา 59 วรรคท้าย เป็นต้น
.
กรณีสุดท้าย เป็นกรณีที่ขับรถชนแล้วหนี คนที่ขับรถชนคน ชนทรัพย์สินผู้อื่นแล้วหนี ไม่ช่วยเหลือคนเจ็บ กลับหนีไป ปล่อยให้เขาตายหรือได้รับบาดเจ็บ ตามพ.ร.บ.จราจร ทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 บัญญัติว่า ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่ หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุด รถหรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง ทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วยในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่ หลบหนี หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐโทษของการชนแล้วหนี
.
และตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 บัญญัติว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 90,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติ ตามต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ฉะนั้น หากท่านผู้อ่านพบเจอผู้อื่นที่กำลังประสบอันตรายอยู่ เราต้องพยายามช่วยเหลือเขาตามกำลังที่ไม่ทำให้เราเสี่ยงอันตราย นอกจากจะเป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้พลเมืองทุกคนต้องปฏิบัติแล้ว ยังเป็นหน้าที่ตามจริยธรรมให้ฐานะที่เราเป็นสมาชิกในสังคมเดียวกันต้องช่วยเหลือกันในยามที่ผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากอีกด้วย