วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เมื่อชายและหญิงตกลงคบหากันฉันคู่รัก ไปจนหมั้นหมายกัน ถึงขั้นแต่งงานเป็นคู่สมรสกันนั้น ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งชายและหญิงต้องยึดมั่นไว้ อันเป็นการเคารพต่อความรู้สึกที่มีให้กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องความรู้สึกของคนสองคนแล้ว กฎหมายก็ยังเข้ามาช่วยคุ้มครองอีกชั้นหนึ่ง หากฝ่ายใดไม่ซื่อสัตย์นอกใจอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ถูกนอกใจก็มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากการถูกนอกใจได้ ซึ่งเราจะมาดูกันว่ามีกรณีใดบ้างที่เรียกค่าทดแทนจากการถูกนอกใจได้
.
กรณีแรก เป็นเรื่องที่คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งไม่ว่าชายหรือหญิงนอกใจไปร่วมประเวณีกับผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445 วางหลักว่า ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว
.
เนื่องจากการหมั้น กฎหมายถือเป็นสัญญาว่าชายและหญิงคู่หมั้นตกลงจะแต่งงานสมรสกันในภายหน้า ซึ่งทั้งฝ่ายชายและหญิงคงคาดหวังว่าแต่ละฝ่ายจะซื่อสัตย์ต่อกันในระหว่างสัญญาหมั้น ฉะนั้น หากฝ่ายใดนอกใจไปร่วมประเวณีกับผู้อื่น ก็ถือเป็นการผิดสัญญาหมั้น ไม่ซื้อสัตย์ต่อกัน จึงเป็นเหตุให้คู่หมั้นฝ่ายผิดสัญญาถูกบอกเลิกสัญญาหมั้น และผู้ที่มาเป็นมือที่สามต้องเสียค่าทดแทนเป็นการชดเชยค่าเสียหายที่ทำให้ไม่เกิดการสมรสขึ้นตามสัญญาหมั้น
.
กรณีต่อมา เป็นเรื่องหลังจากที่ชายและหญิงได้สมรสเป็นคู่สามีภริยากันแล้ว ต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกใจไปมีชู้ และหากอีกฝ่ายขอหย่า แต่ฝ่ายนั้นไม่ยอมหย่า ก็เป็นเหตุให้อีกฝ่ายฟ้องหย่าต่อศาลได้ โดยมาตรา 1516 (1) วางหลักว่า หากสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
.
ซึ่งตามมาตรา 1522 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันแล้ว ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากอีกฝ่ายที่นอกใจ และจากผู้ที่เป็นมีที่สามได้
.
และนอกจากนี้ในวรรคสองของมาตราเดียวกัน ให้สิทธิสามีเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว ไม่ว่าฝ่ายภริยาจะสมัครใจหรือสมยอมก็ตาม ส่วนฝ่ายภริยาก็มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ ซึ่งมีข้อสังเกตุว่าสำหรับฝ่ายภริยา กฎหมายจำกัดไว้ให้เรียกค่าทดแทนได้เฉพาะกับหญิงที่เป็นมือที่สามเท่านั้น หากเป็นกรณีสามีไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่น ตรงนี้น่าสนใจว่า หากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ศาลจะให้ฝ่ายภริยาเรียกค่าทดแทนจากชายที่เป็นมือที่สามได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ต้องติดตามจากคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป
.
อย่างไรก็ตาม วรรคสุดท้ายของมาตรา 1522 วางข้อยกเว้นสิทธิการเรียกค่าทดแทนไว้ว่า หากสามีหรือภริยายินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งไปอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือให้ผู้อื่นล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว หรือยอมให้หญิงอื่นแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว
.
กรณีเช่นนี้ สามีหรือภริยาที่ยินยอมจะสิ้นสิทธิการเรียกค่าทดแทนได้ เนื่องจากตนให้การยินยอมเอง จึงต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไปเอง
.
นอกจากนี้ การหย่าที่เกิดจากการนอกใจ ซึ่งเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดเพียงผู้เดียว และการหย่านั้นทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจนลง คู่สมรสฝ่ายที่จนลงมีสิทธิขอให้คู่สมรสฝ่ายที่นอกใจรับผิดชอบจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ก็ได้ ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง
.
จากที่อธิบายมานี้จะเห็นได้ว่าผลจากการนอกใจคู่หมั้นและคู่สมรสนั้น นอกจากจะทำลายความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งคู่แล้ว อาจทำให้กระทบถึงฐานะ ต้องเสียค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงดูอีก ดังนั้น ความซื่อสัตย์ต่อกันระหว่างคู่รักจึงสำคัญ เพราะเป็นรากฐานทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง อันจะส่งผลต่อสัมคมโดยรวมเข้มแข็งไปด้วย