ท่านผู้อ่านคงจะพอได้ยินคำว่า ตัดจากกองมรดก กันมาบ้าง โดยเฉพาะจากละครหรือซีรีย์ต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายการที่ทายาทจะถูกตัดสิทธิจากกองมรดกนั้น มีด้วยกันสองกรณี วันนี้เราจะมาดูกันว่ามีกรณีใดบ้าง และจะถูกตัดสิทธิอย่างไร
.
กรณีแรกเรียกว่า “การถูกกำจัดมิให้รับมรดก” เกิดจาก 2 สาเหตุ
.
1.การถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 เมื่อทายาทคนนั้นยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกมาเป็นของตัวเองโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าจะทำให้ทายาทคนอื่นเสื่อมประโยชน์ไม่ได้รับทรัพย์มรดกตามกฎหมาย หากทายาทผู้นั้นยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าที่ตนจะได้รับ จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกเท่าส่วนที่ตนยักย้าย หรือปิดบังไว้ เช่น นาย A และนาย B เป็นทายาทจะได้รับมรดกคนละ 1 ล้านบาท หากนาย A ยักยอกเงินมรดกมาเป็นของตนก่อนแบ่งมรดกจำนวน 5 แสนบาท แบบนี้นาย A จะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกจำนวน 5 แสนบาท แต่ยังได้รับมรดกส่วนของตนอีก 5 แสนบาทอยู่
.
แต่ถ้าทายาทผู้นั้นยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดก เท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ ทายาทผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิไม่ให้ได้รับมรดกทั้งหมด เช่น ตัวอย่างเดิม หากนาย A ยักยอกเงินมรดกมาเป็นของตนทั้ง 2 ล้านบาท นาย A จะถูกตัดสิทธิมิให้รับมรดกทั้งหมด ไม่ได้ส่วนแบ่งมรดกแม้แต่บาทเดียว
.
2.การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามมาตรา 1606 กำหนดไว้หลายสาเหตุ
.
-ทายาทผู้นั้นถูกตัดสินถึงที่สุดว่าเจตนาฆ่า หรือพยายามฆ่าเจ้ามรดกหรือทายาทที่มีสิทธิรับมรดกก่อนตน
.
-ทายาทผู้นั้นฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ กล่าวหาว่าเจ้ามรดกกระทำความผิดโทษประหาร
.
-ทายาทผู้นั้น รู้อยู่ว่าใครเป็นคนฆ่าเจ้ามรดก แต่ไม่ยอมแจ้งความเอาผิดผู้ฆ่า เว้นแต่ทายาทผู้นั้นอายุน้อยกว่า 16 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริต หรือผู้ที่ฆ่าเป็นสามี, ภริยา, บุพการี หรือผู้สืบสันดานโดยตรงของตน ทายาทผู้นั้นไม่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก
.
-ทายาทผู้นั้น ฉ้อฉล หรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกเขียนพินัยกรรม หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม
.
-ทายาทผู้นั้น ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรม
.
ซึ่งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรทั้ง 5 สาเหตุนี้ เจ้ามรดกอาจถอนการกำจัดได้ โดยการเขียนให้อภัยเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเจ้ามรดกไว้ด้วย ก็จะทำให้ทายาทที่ถูกกำจัดกลับมามีสิทธิได้รับมรดกได้อีกครั้ง
.
แต่ หากทายาทผู้นั้นถูกกำจัดก่อนที่เจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานของทายาทผู้นั้น ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ยังมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทผู้ถูกกำจัดได้ตามมาตรา 1639 หากทายาทผู้นั้นถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกส่วนของทายาทผู้ถูกกำจัดได้ ซึ่งทางกฎหมายเรียกว่า “การสืบมรดก”
.
กรณีที่สองที่ตัดสิทธิทายาทจากการรับมรดก ได้แก่ “การตัดมิให้รับมรดก” ซึ่งกรณีนี้จะเป็นกรณียอดฮิตที่นำไปใช้ในละคร หากเจ้ามรดกไม่พอใจที่จะให้ทรัพย์ของตนเป็นมรดกตกแก่ทายาทคนใด เจ้ามรดกก็มีสิทธิแสดงเจตนาของตนตัดทายาทคนนั้นไม่ให้ได้รับมรดกได้ ซึ่งจะใช้ได้กับทายาทโดยธรรมเท่านั้น เช่น นาย A มีลูก 2 คน คือนาง B และนาง C แต่นาง B ไม่ยอมกลับมารับช่วงกิจการของนาย A นาย A ก็มีสิทธิตัดนาง B ออกจากกองมรดกได้
.
วิธีการแสดงเจตนาตัดทายาทคนใดมิให้รับมรดกนั้น มาตรา 1608 กำหนดไว้ 2 วิธีคือ
.
1.เขียนไว้ในพินัยกรรมว่าให้ตัดทายาทคนใดมิให้รับมรดก
.
2.ทำเป็นหนังสือว่าให้ตัดทายาทคนใดมิให้รับมรดก แล้วมอบไว้ให้แก่นายอำเภอ หรือผ.อ.เขต
.
ผลก็จะทำให้ทายาทผู้นั้น รวมทั้งผู้สืบสันดาน หมดสิทธิในกองมรดกทั้งหมด
.
แต่ มาตรา 1609 ก็ยังให้สิทธิเจ้ามรดกถอนการแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกได้ โดย
.
1.หากทำการตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรม ก็ต้องถอนโดยการแก้ไขหรือเขียนพินัยกรรมใหม่ถอนการตัดทายาทคนนั้นจากกองมรดก
.
2.หากตัดมิให้รับมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบให้แก่นายอำเภอ หรือ ผ.อ. เขต เจ้ามรดกจะถอนโดยเขียนพินัยกรรมถอนการตัด หรือจะทำเป็นหนังสือถอนการตัดแล้วมอบให้นายอำเภอ ก็ได้แล้วแต่จะเลือก
.
จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดหลักการเพื่อป้องกันทรัพย์มรดกให้ตกแก่ทายาทที่ประพฤติดี ถูกต้อง และยังรับรองเจตนาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ต้องการให้ทรัพย์ของตนตกได้แก่ผู้ที่ตนเห็นว่าสมควร