ความหมายของคำว่า “มรดก” ที่ครอบคลุมในทางกฎหมาย
ความหมายของคำว่า "มรดก" ที่ครอบคลุมในทางกฎหมาย

ท่านผู้อ่านคงรู้จักคำว่า “มรดก” กันแล้ว แต่ถ้าถามว่าแล้วมรดก คืออะไร ก็มีไม่น้อยที่ตอบได้ไม่ถูกต้องและครบถ้วน ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันว่า “มรดก” ตามกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร และมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรบ้าง
.
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 วางหลักไว้ว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
.
จากตัวบทกฎหมายดังกล่าว มรดก คือ
.
1.ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดที่มีอยู่ก่อนหรือขณะเจ้ามรดกตาย ดังนั้น หากเจ้าของทรัพย์นั้นยังไม่ตาย ทรัพย์สินทุกอย่างของเจ้าของทรัพย์ไม่ใช่มรดก เช่นนี้ สมมติถ้าเจ้าของทรัพย์ยกทรัพย์สินให้ลูกคนเล็ก จากนั้นอีกหนึ่งเดือนเจ้าของทรัพย์ตาย ลูกคนโตจะมาขอแบ่งทรัพย์ดังกล่าวในฐานะทรัพย์มรดกไม่ได้ เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่โอนให้ก่อนเจ้าของทรัพย์นั้นตาย ทรัพย์นั้นจึงไม่ใช่มรดกที่จะตกทอดให้ทายาททุกคนได้
.
หรือกรณีทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลังเจ้าของทรัพย์ตายก็ไม่ใช่มรดก เช่น เงินประกันชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559 ให้ถือว่าเงินประกันชีวิตเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก สามารถตกทอดแก่ทายาทได้ในฐานะกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง
.
2.สิทธิ ได้แก่ สิทธิหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์เดิมจะตกทอดได้แก่ทายาทโดยอัตโนมัติ เช่น สิทธิรับโอนทรัพย์ในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ หากผู้ซื้อบ้านคนเดิมตายก่อนได้รับโอนบ้าน ทายาทของผู้ซื้อบ้านก็ได้สิทธิของผู้ซื้อบ้านเดิมมารับโอนบ้านได้ในฐานะสิทธิที่เป็นมรดก
.
3.หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ได้แก่ หน้าที่ในการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อนตาย หรือความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิดที่มีก่อนเจ้ามรดกตาย
.
อย่างไรก็ตาม มาตรา 1601 วางหลักไว้ว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่ตกทอดได้แก่ตน หมายความว่า แม้ทายาทตกรับมรดกในการชดใช้หรือชำระหนี้ของเจ้ามรดก แต่ก็ไม่ต้องชดใช้เกินกว่าส่วนแบ่งมรดกที่ตนได้รับจากเจ้ามรดก เช่น เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นเงินในธนาคาร 1 ล้านบาท และมีหนี้สินเป็นเงิน 5 ล้านบาท แบบนี้ทายาทที่รับทรัพย์มรดกเป็นเงิน 1 ล้านบาท ก็มีความรับผิดชดใช้หนี้เพียง 1 ล้านบาทเท่ากับที่ตนได้รับมรดกมา ไม่ต้องควักเนื้อตัวเองชดใช้หนี้ที่เหลืออีก 4 ล้านบาทแต่อย่างใด
.
4.แต่สิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ นั้น หากเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท เช่น สิทธิตามสัญญาหมั้น หากคู่หมั้นคนหนึ่งตายจะให้สิทธิการแต่งงานตามสัญญาหมั้น
.
ตกแก่ทายาทไม่ได้ หรือสิทธิการเช่าเป็นสิทธิที่เพ่งเล็งถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้เช่าโดยแท้ จึงไม่ใช่สิทธิที่จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้
.
ซึ่งหลังจากเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สินทั้งหมดและสิทธิหน้าที่ทุกอย่างจะตกทอดได้แก่ทายาทของเจ้ามรดกทุกคนทันที ตามมาตรา 1599 โดยไม่ต้องไปแจ้งต่อหน่วยงานรัฐหรือยื่นคำร้องต่อศาล
.
โดยการตายของเจ้ามรดกนั้น หมายรวมถึง การเป็นผู้สาบสูญตามคำสั่งศาลด้วย ตามมาตรา 1602 วรรคแรก หากได้ความภายหลังว่าบุคคลผู้สาบสูญนั้นยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ทายาทที่รับทรัพย์มรดกไป คืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้นั้น ตามหลักลาภมิควรได้ ตามมาตรา 1602 วรรคท้าย
.
สุดท้าย ผู้เป็นทายาทนั้น ได้แก่ ทายาทตามกฎหมายที่เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” และทายาทตามพินัยกรรมที่เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”
.
จากที่อธิบายมาทั้งหมดคงทำให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจอย่างคร่าว ๆ แล้วถึงความหมายของ มรดก และหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านในการใช้สิทธิและหน้าที่ของตนเกี่ยวกับมรดกได้อย่างถูกต้อง