ข้อกำหนดทางกฎหมายการครอบครองปรปักษ์
ข้อกำหนดทางกฎหมายการครอบครองปรปักษ์

ท่านผู้อ่านเกือบทุกคนคงพอได้ยินคำว่า “ครอบครองปรปักษ์” กันมาบ้างแล้ว แต่กว่าจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามที่กฎหมายกำหนดต้องประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น วันนี้เราจะมาดูกันครับ
.
การครอบครองปรปักษ์นั้น มีการกำหนดลักษณะไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
.
จากตัวบทกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าบุคคลที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์นั้นต้องทำครบตามองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดในการครองครองปรปักษ์ไว้
.
1. ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายให้กรรมสิทธิ์ด้วย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ที่มีโฉนดที่ดิน จึงจะครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนที่ดินมือเปล่าหรือส.ค.1หรือน.ส.3 เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง จึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้ แต่ทำได้ง่ายกว่าโดยการแย่งการครอบครองเพียงเท่านั้น
.
สำหรับทรัพย์สินทางปัญญา อันได้แก่ ลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า เป็นต้น ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ใน เนื่องด้วยเป็นทรัพย์สินที่ก่อตั้งขึ้นด้วยกฎหมายเฉพาะ ซึ่งไม่อนุญาตให้ถูกครองครองปรปักษ์ได้
.
2. ต้องครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หากเป็นทรัพย์สินที่ตนเป็นเจ้าของรวมอยู่โดยยังไม่ได้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นส่วน ๆ ว่าเป็นของใครอย่างชัดเจน ก็ไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้ เช่น เรามีชื่อในโฉนดที่ดินร่วมกันกับน้องสาว หากยังไม่ได้แบ่งสัดส่วนว่าใครจะมีสิทธิในส่วนใดของที่ดิน แม้เราจะเข้าครอบครองที่ดินนั้นทั้งหมดยาวนานเพียงใดก็ไม่ได้ครอบครองปรปักษ์ เพราะเราเป็นเจ้าของรวมกับน้องสาวในที่ดินทุกตารางนิ้วอยู่แล้ว ไม่ใช่เข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่น
.
3. ต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ คือ ผู้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องไม่ถูกผู้อื่นที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เข้ามาขับไล่ หรือฟ้องเป็นคดีพิพาทในศาล หรือร้องทุกข์ต่อตำรวจหรือฝ่ายปกครองหรือหน่วยราชการอื่น
.
4. ต้องเป็นการครอบครองโดยเปิดเผย คือ ผู้ครอบครองต้องครอบครองอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่หลบ ๆ ซ้อน ๆ หรือแอบเข้ามาครอบครองในยามวิกาล จนผู้คนทั่วไปเข้าใจได้
.
ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้ครอบครอง เช่น นาย ก เป็นเจ้าของรถจักรยานคันนึง แต่ทิ้งไว้หน้าบ้านนาย ข นาย ข จึงนำจักรยานคันนั้นไปเก็บไว้ในบ้านตน เช้าก็ขี่จักรยานคันนั้นไปจ่ายตลาดและทำแบบนี้ทุกวัน จนชาวบ้าน แม่ค้าในตลาด เห็นว่านาย ข ใช้จักรยานคันนี้เป็นของตนเอง ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเปิดเผย
.
5. ต้องเป็นการครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ คือ ตนต้องการยึดทรัพย์นั้นเป็นของตนเองโดยไม่สนใจสิทธิของเจ้าของที่แท้จริง แต่หากผู้นั้นเข้าครอบครองเพราะเจ้าของทรัพย์นั้นฝากให้ดูแลแทน หรือเจ้าของทรัพย์ให้เช่า หรือเจ้าของทรัพย์อนุญาตให้ใช้หรือให้อยู่อาศัย อย่างนี้ไม่ใช่การครอบครองด้วยมีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จะครองครองนนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์
.
6. ต้องครอบครองติดต่อกันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด อันได้แก่ 10 ปีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ และ 5 ปีสำหรับสังหาริมทรัพย์
.
7. และสำหรับการครอบครองปรปักษ์ในอสังหาริมทรัพย์ แม้จะทำครบองค์ประกอบ 6 ข้อดังกล่าวแล้ว ผู้ครอบครองยังต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นแล้วด้วย เนื่องจากต้องนำคำสั่งศาลนั้นไปให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดด้วย จึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นโดยสมบูรณ์ มิฉะนั้น ผู้ครอบครองปรปักษ์ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้นจากเจ้าของเดิมโดยจดทะเบียนโอนอย่างถูกต้อง และเขาเป็นผู้ไม่รู้มาก่อนว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกครอบครองปรปักษ์แล้ว เช่นนี้ ผู้ครอบครองปรปักษ์ต้องส่งมอบที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก เว้นแต่ตนจะเริ่มทำการครอบครองปรปักษ์ต่อบุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าของใหม่ต่ออีก 10 ปี
.
เหตุที่กฎหมายอนุญาตให้มีการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนใช้ทรัพย์สินของตนให้เกิดดอกผลแก่สังคมและเศรษฐกิจ ไม่ให้ทิ้งขว้างไว้เปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล
.
จึงอยากให้ผู้อ่านทั้งที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินและผู้ที่เข้าไปแย่งกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของผู้อื่นได้เข้าใจ โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ระมัดระวังทรัพย์สินของตนไม่ให้ถูกแย่งโดยการครอบครองปรปักษ์
.