รู้หรือไม่ ที่ดินในประเทศไทย มีเอกสารสิทธิประเภทใดบ้าง
รู้หรือไม่ ที่ดินในประเทศไทย มีเอกสารสิทธิประเภทใดบ้าง

รู้หรือไม่ ว่าที่ดินในประเทศไทยมีเอกสารแสดงสิทธิประเภทใดบ้าง และแต่ละประเภทจะให้สิทธิแก่ผู้ครอบครองที่ดินนั้นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ครอบครองทราบสิทธิของที่ดินตามเอกสารสิทธิประเภทต่าง ๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจในการรับโอน ซื้อขาย หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้น ในโพสต์นี้เราจะมาดูกัน

น.ส.2 หรือใบจอง เป็นเอกสารสิทธิที่รัฐอนุญาตให้บุคคลมีสิทธิในที่ดินได้ชั่วคราว โดยบุคคลนั้นต้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินภายใน 6 เดือนนับแต่ได้ใบจอง แต่ไม่เกิน 3 ปีนับแต่ได้ใบจอง ซึ่งที่ดินประเภทนี้ไม่อาจโอนให้ผู้อื่นได้ ทำได้เพียงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทเท่านั้น
.
ที่ดินใบจองนี้สามารถไปยื่นคำร้องขอให้รัฐออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก) หรือโฉนดที่ดินได้

น.ส.3 หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นเอกสารสิทธิที่รัฐออกให้บุคคลที่ครอบครองที่ดิน ซึ่งบุคคลนั้นจะมีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น หากจะนำไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน ต้องรอให้สำนักงานที่ดินมารังวัด และประกาศ 30 วัน เพื่อรอผู้อื่นมาคัดค้าน หากไม่มีผู้คัดค้าน สำนักงานที่ดินก็จะออกโฉนดให้
ส.ค.1 หรือ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีการออกเอกสารสำคัญชนิดนี้ให้อีกแล้ว เป็นกรณีในสมัยก่อน มีบุคคลครอบครองที่ดินว่างเปล่า รัฐจึงให้บุคคลนั้นมาแจ้งว่าได้ครอบครองที่ดินอยู่ แล้วออกใบส.ค.1 ไว้เป็นเอกสารหลักฐานว่ารัฐอนุญาตให้ทำกินได้ แต่ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน จึงไม่อาจนำเอกสารส.ค.1 ไปขอออก น.ส.3 หรือโฉนดที่ดินได้
.
หากจะทำการซื้อขาย หรือ โอนการครอบครองที่ดินประเภทนี้ ก็ไม่ต้องมีการจดทะเบียนโอนสิทธิกัน เพราะเป็นการครอบครองด้วยความเป็นจริง การโอนการครอบครองจึงทำเพียงผู้ครอบครองเดิมแสดงเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินนั้นให้ผู้รับโอน จะทำโดยกริยา วาจา หรือหนังสือก็ได้ (แนะนำให้คำเป็นหนังสือดีที่สุด)
น.ส.3 ก เป็น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ลักษณะเดียวกับ น.ส.3 นั่นเอง แต่จะมีภาพถ่ายระวางที่ดินทางอากาศถึงตำแหน่งของที่ดินอย่างชัดเจน เมื่อจะนำไปขอออกโฉนด สำนักงานที่ดินก็จะออกโฉนดให้ทันทีไม่ต้องรังวัดและรอคัดค้าน 30 วันอีก
.
ทั้งที่ดินน.ส.3 และน.ส.3 ก สามารถทำการซื้อขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ขายฝาก หรือจำนองได้ โดยในการโอนสิทธิการครอบครองของที่ดินประเภทนี้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4ทวิ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากที่ดินประเภทนี้เป็นที่ดินที่ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง ศาลฎีกาได้วางหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 และ 1378 ว่า สามารถโอนสิทธิครอบครองกันโดย ผู้ครอบครองเดิมแสดงเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้รับโอน โดยจะแสดงด้วยกริยา วาจา หรือหนังสือก็ได้
น.ส.4 หรือโฉนด เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งให้สิทธิแก่ผู้ครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้อย่างสมบูรณ์ ทำให้สามารถทำการโอน ซื้อขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ขายฝาก หรือจำนองที่ดินประเภทนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเสียก่อน จึงจะไม่โมฆะ
ภ.บ.ท.5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินใด ๆ เป็นเพียงเอกสารแสดงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ถ้าบุคคลถือเอกสารนี้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินนั้นโดยความเป็นจริง ผู้นั้นก็ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินแต่อย่างใด แต่ถ้าครอบครองอยู่ด้วยก็โอนให้กันได้โดยการสละและส่งมอบการครอบครองเช่นเดียวกับที่ดินส.ค.1 และน.ส.3
ส.ป.ก.4-01 เป็นเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งที่ดินประเภทนี้ ผู้ได้สิทธิไม่อาจโอน ขาย ขายฝาก ให้เช่านอกจากทำเกษตร หรือให้ผู้อื่นมาทำกินแทนได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะถูกสำนักงานส.ป.ก.ยึดคืน และเมื่อไม่ทำเกษตรแล้วต้องส่งมอบคืนแก่รัฐ
ส.ท.ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมอุทยานออกให้ โดยอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยได้ในเวลาครั้งละไม่น้อยกว่า 5 ปีถึงไม่เกิน 30 ปี หากไม่เข้าทำประโยชน์ติดต่อกันเกิน 2 ปี หรือยินยอมให้ผู้อื่นเข้าทำประโยชน์แทน หรือไม่ทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐ ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 16 และมาตรา 16 ทวิ
น.ค.3 เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ของกรมประชาสงเคราะห์ ที่ออกให้ประชาชนในนิคมสร้างตนเอง โดยให้ครอบครองได้ไม่เกิน 5 ไร่และต้องครอบครองไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยไม่สามารถโอน หรือขายให้ผู้อื่นได้ เว้นแต่ตกทอดแก่ทายาทโดยมรดก ซึ่งที่ดินประเภทนี้สามารถนำไปขอออกเอกสารสิทธิน.ส.3 หรือโฉนดได้
ที่ดินส.ค.1, น.ส.3ก (น.ส.3) หรือที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีเอกสารใด ๆ (รวมถึงมีเพียง ภ.บ.ท.5) เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น จะเสียสิทธิในที่ดินโดยเพียงถูกแย่งการครอบครองเท่านั้น เช่น ถูกคนอื่นบุกรุกเข้ามาทำกิน หากผู้ครอบครองเดิมไม่ฟ้องเพื่อเอาคืนภายใน 1 ปีนับแต่ถูกแย่ง ก็จะหมดสิทธิฟ้อง
.
แต่สำหรับที่ดินมีโฉนด เป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ จะถูกแย่งสิทธิในที่ดินโฉนดก็แต่การถูกครอบครองปรปักษ์เท่านั้น