สิทธิของ “ผู้เยาว์” อะไรที่กฎหมายให้ทำได้ และทำไม่ได้
สิทธิของ "ผู้เยาว์" อะไรที่กฎหมายให้ทำได้ และทำไม่ได้

ว่าด้วยเรื่องผู้เยาว์ตามกฎหมาย ผู้เยาว์ต้องมีลักษณะอย่างไร และผู้เยาว์มีความสามารถตามกฎหมายอะไรบ้าง
ผู้เยาว์มีลักษณะดังนี้
.
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมีความหมายง่าย ๆ ว่า ผู้เยาว์ คือผู้ที่ยังอายุไม่ถึง 20 ปี
.
เว้นแต่ตามมาตรา 20 ที่ว่า ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรสโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครอง นั่นหมายความว่า ถ้าผู้เยาว์สมรสแล้วก็จะมีสภาพเป็นผู้ใหญ่ได้ ซึ่งตามมาตรา 1448 การสมรสจะทำขึ้นได้เมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ชายหญิงที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีสมรสกันก็ได้
.
ความสามารถตามกฎหมายของผู้เยาว์
[[จำกัดสิทธิ]]
– ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ตามมาตรา 21 คือ ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ได้ เช่น ซื้อขาย เช่า จ้างหรือรับจ้าง ให้ แลกเปลี่ยน เป็นต้น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน ผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น ได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หากผู้เยาว์ทำเองโดยพลการณ์ นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ คือ ตกเป็นโมฆะเมื่อถูกผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้าง
.
– อีกทั้ง ตามมาตรา 1718 (1) ห้ามไม่ให้ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ผู้เยาว์) เป็นผู้จัดการมรดก
.
[[ให้สิทธิ]]
– อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำนิติกรรมใด ๆ ได้เองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หากเป็นนิติกรรมที่จะได้สิทธิอันปราศจากเงื่อนไข หรือเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่หรือการชำระหนี้ เช่น ผู้เยาว์รับทรัพย์จากการให้โดยเสน่หา หรือผู้เยาว์ได้รับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ โดยไม่มีเงื่อนไข
.
– รวมถึง ตามมาตรา 23 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว ได้แก่การกระทำที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของผู้เยาว์นั้นเองซึ่งผู้อื่นทำแทนไม่ได้ เช่น การวาดภาพ ร้องเพลง การแข่งขันกีฬา เหล่านี้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
.
– ตามมาตรา 24 ผู้เยาว์ทำการใด ๆ ได้ ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร ได้แก่ การซื้อของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันซึ่งราคาไม่แพงเกินกว่าฐานะทางครอบครัวของตน เช่นหากเป็นลูกครอบครัวเศรษฐี ผู้เยาว์อาจซื้อกระเป๋า Luis Vitton ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าเป็นลูกครอบครัวคนชั้นกลางรายได้เดือนละหมื่นบาท การที่ผู้เยาว์จะซื้อกระกระเป๋า Luis Vitton ก็คงไม่ใช่การอันสมแก่ฐานานุรูปของตน ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
.
– ตามมาตรา 25 ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมได้เองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์
.
– ตามมาตรา 26 ส่วนเรื่องของการจำหน่ายสินค้าหรือทรัพย์สินใดๆ โดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว เรื่องจากจัดการทรัพย์สินนั้นๆ ผู้เยาว์สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมในการจัดการทรัพย์สินนั้นจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก
.
– และในทำนองเดียวกัน ในมาตรา 27 หากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ผู้เยาว์เป็นเจ้าของกิจการใดแล้ว ผู้เยาว์มีอำนาจในการจัดการบริหารกิจการนั้นด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องมาขอความยินยอมในการจัดการกิจการหรือบริหารจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก

– นอกจากนี้ ผู้เยาว์ที่เป็นเด็กอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ สามารถฟ้องคดีต่อศาลให้สั่งรับตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้เอง โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ตามมาตรา 1556 วรรคสอง
.
จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้จำกัดสิทธิของผู้เยาว์ไว้ไม่ให้ทำนิติกรรมใด ๆ ได้อิสระ เนื่องจากเห็นว่าผู้เยาว์ยังไม่มีประสบการและความรู้เพียงพอ หากปล่อยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมได้เอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองก่อน ผู้เยาว์อาจได้รับความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ให้อิสระแก่ผู้เยาว์ในการทำนิติกรรมบางอย่างได้เองเช่นกัน แต่ในอนาคตไม่แน่ว่ากฎหมายอาจเปลี่ยนมาให้อิสระแก่ผู้เยาว์ในการทำนิติกรรมมากขึ้นก็ได้ ซึ่งเห็นได้จากมีผู้เยาว์หลายคนในปัจจุบันสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาได้ และมีความสามารถไม่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ก็ต้องรอดูกัน เพราะกฎหมายต้องปรับตัวตามสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต