ใช้สิ่งของที่ทำให้คิดได้ว่าเป็นอาวุธจี้ผู้อื่นเพื่อปล้นทรัพย์มีความผิดฐานขู่เข็นเพื่อชิงทรัพย์
ใช้สิ่งของที่ทำให้คิดได้ว่าเป็นอาวุธจี้ผู้อื่นเพื่อปล้นทรัพย์มีความผิดฐานขู่เข็นเพื่อชิงทรัพย์

กรณีที่มีโจรมาจี้ชิงทรัพย์จากด้านหลังโดยที่ผู้เสียหายไม่เห็นว่าสิ่งที่ใช้เป็นอาวุธที่สามารถทำอันตรายต่อชีวิตได้หรือไม่ แต่แล้วเมื่อมารู้ทีหลังว่าที่คนร้ายอ้างว่าใช้อาวุธจี้ สุดท้ายเป็นเพียงปากกานั้น จะเป็นว่าสามารถเอาผิดอาญาฐานใดหรือไม่
.
หากพิจารณาลักษณะความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ได้วางหลักไว้ว่า ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อวัตถุประสงค์ 5 อย่าง คือ 1.เพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์นั้น 2.เพื่อให้ยื่นทรัพย์นั้นให้ 3.เพื่อให้ผู้กระทำผิดยึดถือทรัพย์นั้นไว้ 4.เพื่อปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ 5.เพื่อให้พ้นจากการจับกุม
.
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 2 แสนบาท
.
ซึ่งลักษณะการกระทำความผิดนี้ ถือเป็นการใช้วัตถุจี้ข้างหลังผู้เสียหาย เข้าลักษณะขู่เข็นว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย แล้วเอาเงินจากผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ หรือเพื่อให้ยื่นทรัพย์ให้ ดังนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้
.
แต่หากพิจารณาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่มีลักษณะคล้าย ๆ การกระทำในข่าวนี้ บางคำพิพากษาไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ และบางคำพิพากษาเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เช่น
.
คำพิพากษาฎีกาที่ 5161/2533 เป็นเรื่องผู้เสียหายถูกคนร้ายจี้ชิงทรัพย์ โดยคนร้ายอ้างว่าใช้มีดจี้ หากไม่ยอมให้เงินจะแทง แต่แท้จริงแล้วคนร้ายใช้เพียงลูกกุญแจจี้ที่เอวผู้เสียหายเท่านั้น คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์ ด้วยมองว่าคนร้ายไม่ได้ใช้อาวุธจริงมาขู่บังคับเอาทรัพย์ผู้เสียหาย โดยพิพากษาให้รับผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการมอบทรัพย์ให้ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่คำพิพากษาฎีกาที่ 8/2539 เป็นเรื่องผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้ปืนไฟแช็กจี้ชิงทรัพย์ ศาลมองว่าพฤติการณ์ของคนร้ายเข้าลักษณะขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ แม้จะเป็นอาวุธปลอมก็ตาม ยังคงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้
.
ที่แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเช่นนี้ อาจเพราะมีความแตกต่างในการสืบพยานหลักฐานและพฤติการณ์ปลีกย่อยที่ต่างกัน จึงมีคำพิพากษาออกต่างกัน ไม่ใช่เพราะมาตรฐานการตัดสินไม่เท่ากันแต่อย่างใด