ยกเลิกกฎหมายเช็คเด้ง ตั้งใจฉ้อโกงรับโทษอาญา
ยกเลิกกฎหมายเช็คเด้ง ตั้งใจฉ้อโกงรับโทษอาญา

จากกรณีที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เรามาดูกันว่าพรบ.ฉบับนี้มีเนื้อหาอย่างไร ทำไมจึงถูกยกเลิก
.
เช็คนั้นเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและเงินตรากันได้ตามกฎหมาย โดยกฎหมายได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งสำหรับผู้ออกเช็คและผู้รับเช็คในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้ว่าหากผู้รับเช็คนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารแล้วไม่ได้เงินตามนั้น เรียกภาษาทั่วไปว่า เช็คเด้ง ให้ผู้รับเช็คมีสิทธิฟ้องทางแพ่งต่อผู้ออกเช็คและผู้สลักหลังทั้งหมดให้มีหน้าที่ชดใช้เงินตามที่เขียนในเช็ค อันเป็นคดีทางแพ่ง ไม่ต้องรับโทษทางอาญา เช่น ปรับหรือจำคุก
.
ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเจริญขึ้นจนมีการใช้เช็คอย่างแพร่หลาย แล้วมีกรณีผู้ออกเช็คโดยไม่เงินในบัญชีให้จ่ายจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ สภาผู้แทนราษฎรจึงบัญญัติพรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาขึ้น เพื่อหวังว่าจะลดคดีเช็คเด้งลง ซึ่งเนื้อหาของพรบ.ฉบับนี้มีว่า
.
ความผิดตามพรบ.นี้ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และต้องมีการกระทำลักษณะต่อไปนี้ ได้แก่ เจตนาไม่ให้ใช้เงินตามเช็ค, ในขณะออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชี, ถอนเงินออกจากบัญชีจนไม่มีเงินพอจ่ายตามเช็ค หรือห้ามไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต หากผู้ออกเช็คทำดังนี้จะมีความผิด อันมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ความผิดตามพรบ.นี้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้
.
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้กำหนดโทษไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในข้อ 11 เนื่องจากจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ซ้อนทับกับการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงไม่ใช่ความผิดร้ายแรงที่จะต้องกำหนดโทษทางอาญาอีก กระทรวงยุติธรรมจึงเห็นควรให้มีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะมีผลเป็นการยกเลิกหลังประกาศยกเลิกไปแล้ว 120 วัน
.
เมื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถ้าผู้ใดกระทำการโดยเจตนาทุจริตเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามเช็ค เจ้าหนี้อาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
แต่หากเกิดกรณีที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แล้วไม่สามารถชำระหนี้ตามเช็คให้แก่เจ้าหนี้ได้ เจ้าหนี้ใช้สิทธิฟ้องผิดสัญญาทางแพ่งและเรียกให้ผู้สั่งจ่ายเช็ครับผิดชำระหนี้ตามเช็คได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์