เมื่อทรัพย์สินประชาชนเสียหายจากบริการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
เมื่อทรัพย์สินประชาชนเสียหายจากบริการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

จากกรณีไฟไหม้อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ย่านสำเพ็ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 คน และผู้เสียชีวิต 2 ราย รวมทั้งความเสียหายอื่นรวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเหตุเกิดมาจากเพลิงที่ประทุจากหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าหน้าอาคารดังกล่าว
.
เมื่อหม้อแปลงกระแสไฟฟ้านี้อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. แล้วผู้เสียหายจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่นั้น และจะเรียกในฐานเป็นความผิดทางแพ่ง หรือทางปกครอง
.
ในทางแพ่งนั้นเราต้องพิจารณาก่อนว่า กฟน. มีหน้าที่ต้องรับผิดทางแพ่ง หรือไม่ เนื่องจากผู้ที่จะมีหน้าที่รับผิดทางแพ่งตามกฎหมายนั้น ต้องมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมายด้วย ซึ่งตามกฎหมายแบ่งออกเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยพ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มาตรา 8 กำหนดให้ กฟน. มีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้น กฟน. จึงถูกฟ้องให้ต้องรับผิดทางแพ่งได้ เมื่อหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลของ กฟน. และถือเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อบุคคลอื่น กฟน. ในฐานผู้มีไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดในความเสียหายทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง ไม่ว่า กฟน. จะประมาทหรือไม่ก็ตาม เนื่องด้วยเป็นความรับผิดเด็ดขาด ไม่อาจอ้างความไม่ประมาทหรือไม่จงใจได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ตามมาตรา 437 วรรคแรก ตอนท้าย
.
ส่วนในทางปกครองนั้น หากจะฟ้องต่อศาลปกครองฐานคดีกระทำละเมิดทางปกครองตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ได้นั้น ต้องได้ความว่า กฟน. เป็นหน่วยงานทางปกครอง และการละเมิดนั้นต้องเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองด้วย ซึ่งแม้ว่า กฟน. จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง หน่วยหนึ่ง ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 3 ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ก็ตาม แต่การให้บริการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเอกชน ไม่ใช่โดยการใช้อำนาจทางปกครอง ดังนั้น ผู้เสียหายจึงไม่อาจนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้
.
ผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกร้องเพียงทางแพ่งต่อศาลแพ่งหรือศาลที่มีเขตอำนาจได้เท่านั้น โดยสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทรัพย์สินเสียหาย ความเสียหายจากความตาย เช่น ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ,ค่าเสียหายต่อร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางเพื่อรักษาตัว รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจจากร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438,439,443,444 และ 446