เป็นเจ้าอาวาสเอาเงินไปใช้ส่วนตัว ถือว่าผิดกฎหมายเจ้าพนักงาน
เป็นเจ้าอาวาสเอาเงินไปใช้ส่วนตัว ถือว่าผิดกฎหมายเจ้าพนักงาน

ช่วงนี้ข่าวคาวในวงการสงฆ์บ้านเรานี่มีให้เห็นถี่เหลือเกิน ทั้งพระเสพเมถุนกับสีกาจนต้องปราชิก เอาเงินวัดไปใช้จ่ายส่วนตัว พระกินเหล้า พระทำตัวไม่เหมาะสมในสมณเพศ ซึ่งก็เลยสงสัยว่านี่หรือคือเมืองพุทธที่แสนภาคภูมิใจนักหนา

.

แต่ก่อนจะดราม่าไปใหญ่ เชื่อว่ามีคนสงสัยว่าถ้าพระในชั้นปกครองที่ทำผิดฐานยักยอกทรัพย์เนี่ย จะถือว่าเป็นความผิดแบบบุคคลหรือว่าเป็นความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน

.

เพราะต้องไม่ลืมว่าความผิดในสองสถานะนั้นมีโทษหนักเบาไม่เท่ากัน โพสต์นี้ทนายออนไลน์จะอธิบายให้เข้าใจ

.

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ บัญญัติให้ เจ้าอาวาสเป็น ‘เจ้าพนักงาน’ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีใจความว่า

“ให้ถือว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในการปกครอง คณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา”

.

ตรงนี้ระบุชัดเจนว่าพระชั้นปกครองอย่างเจ้าอาวาสถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

.

ดั้งนั้นการเคลื่อนไหวทางบัญชี การเงินต่างๆ เจ้าอาวาสต้องมีส่วนรับรู้เสมอ ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความใน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ข้อ 6 ระบุว่า “ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทําบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทําบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้ เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง”

.

ดังนั้นหากตีความตามตัวบทกฎหมายแล้ว เมื่อเจ้าอาวาสกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ก็เท่ากับว่าเป็นการกระทำผิดในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นตําแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว

.

ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 4 แสนบาท”

.

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลทั่วไปที่กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 ระบุว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

.

ฉะนั้น การเป็นพระในระดับชั้นปกครอง เช่นเจ้าอาวาสที่กระทำการยักยอกทรัพย์ในฐานะเจ้าพนักงานจึงมีโทษหนักกว่าความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของคนทั่วไป และเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้นั่นเองอีกด้วย…สาธุ

.

📌 ปัญหาเกี่ยวกับคดีความอยากได้คำตอบเพื่อหาทางออก ปรึกษากับทนายความของเราแบบรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะคดีเล็ก หรือคดีใหญ่ สามารถ inbox มาปรึกษาได้ ทนายออนไลน์ยินดีรับคำปรึกษาจากทุกท่าน