แค่ไหนถึงจะเรียกว่า “บันดาลโทสะ”
แค่ไหนถึงจะเรียกว่า "บันดาลโทสะ"

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
.
🔴หลักเกณฑ์
1. ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
2. การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
.
🔴การข่มเหง หมายถึง รังแก แกล้ง หรือทำให้รู้สึกอับอาย หรือข่มเหงน้ำใจ การข่มเหงเป็นการกระทำของผู้เสียหายเอง และเป็นการกระทำของผู้เสียหายฝ่ายเดียว เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว
.
🔴การข่มเหงนั้น ต้องเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งปัญหาว่าร้ายแรงหรือไม่ ถือตามความรู้สึกของวิญญูชน แม้การกระทำนั้นจะไม่ถึงขนาดกระทำผิดกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าวิญญูชน คือ คนทั่วๆไปที่มีฐานะอย่างเดียวกับผู้กระทำผิดมีความรู้สึกโกรธก็ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เช่น สามีหรือภริยามีชู้ สังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง
.
🔴การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำความผิดเพราะความโกรธที่มาจากการข่มเหง และต้องกระทำความผิด ต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แต่ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้ว ควรหมดโทสะได้แล้ว หากไปกระทำผิดต่อผู้นั้นอ้าจจะเพื่อแก้แค้น ดังนี้ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้
.
🔴ตัวอย่าง
♦️ผู้เสียหายตบศีรษะจำเลยก่อน จำเลยร้องห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหาย กรณีนี้ เมื่อเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยก็สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
♦️ด่าว่าแม่ของผู้กระทำผิดเป็นโสเภณี เป็นการข่มเหงผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
♦️เอาเท้าพาดศีรษะผู้อื่นแล้วลูบเล่น เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
♦️พูดเย้ยหยันว่าเคยฆ่าบิดาจำเลยมาแล้ว วันนี้จะมาฆ่าจำเลยซึ่งเป็นลูกอีก เป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
♦️แอบดูลูกสาวผู้อื่นอาบน้ำ ถือเป็นการข่มเหงบิดาอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
♦️หญิงอื่นไปนอนกับสามีคนอื่นในห้องนอน แม้ไม่ได้ร่วมประเวณีกันก็เป็นการข่มเหงภริยาอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
.
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ หรือผู้กระทำความผิดสมัครใจวิวาทกับผู้อื่น จะอ้างว่าถูกผู้อื่นข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เช่น จำเลยผู้กระทำความผิดด่าแม่ผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายจึงด่าแม่จำเลยบ้าง จากนั้นทั้งสองฝ่ายใช้มีดแทงกัน ดังนี้ เป็นเรื่องด่าว่าและทะเลาะวิวาทกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
.
📌 ปัญหาเกี่ยวกับคดีความอยากได้คำตอบเพื่อหาทางออก ปรึกษากับทนายความของเราแบบรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะคดีเล็ก หรือคดีใหญ่ สามารถ inbox มาปรึกษาได้ ทนายออนไลน์ยินดีรับคำปรึกษาจากทุกท่าน