Victim Blaming สังคมไทยกับนิสัยรุมโทษเหยื่อ
Victim Blaming สังคมไทยกับนิสัยรุมโทษเหยื่อ

คดีข่มขืน คดีกระทำอนาจาร ถือว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย ไม่แพ้การลัก จี้ ชิง ปล้น และเกิดขึ้นกับทุกกลุ่มคน ทุกชนชั้น เสมือนว่าคดีนี้เป็นคดีสามัญประจำประเทศนี้ที่ต้องมีข่าวออกมาให้เห็นทุกวันจนเป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรปกติ
.
แน่นอนว่าเมื่อจับตัวคนก่อเหตุได้ ก็อยากจะให้ได้รับโทษทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด
.
แต่ก็จะมีไม่น้อยที่มักจะกล่าวโทษเหยื่อเอาไว้ก่อนว่า เพราะทำแบบนี้ไง…เลยต้องโดนข่มขืน
.
“ไปที่เสี่ยงหรือเปล่า”
“แต่งตัวโป๊หรือเปล่า”
“ไปอ่อยเขาหรือเปล่า”
.
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และมักเป็นการพูดสนุกปากโดยไม่สนใจเลยว่าผู้ที่โดนกระทำการล่วงละเมิดมาจะรู้สึกอย่างไร
.
ที่น่าตกใจคือข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกโดยผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลระบุว่า ผู้หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คนต่อวัน และเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ 30,000 คนต่อปี ซึ่งสูงติดอันดับโลก
.
สิ่งที่ตามมาคือ เรายังเห็นตัวอย่างการข่มขืนผ่านสื่อโทรทัศน์อย่างแพร่หลาย เช่นในละคร ซีรี่ย์ หรือภาพยนต์ ที่นำเสนอการข่มขืนของตัวละครเป็นภาพซ้ำๆ ตอกย้ำไม่จบไม่สิ้น
.
การถูกข่มขืน เปรียบเสมือนตราบาปในชีวิต ที่หลายคนมักจะไม่อยากออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย และสังคมมักมองผคนที่เสียตัวอย่างไม่เต็มใจนี้ว่าเป็นผู้มีมลทิน
.
ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายที่โดนล่วงละเมิด ส่วนใหญ่เลือกจะเก็บเงียบเนื่องจากอายที่จะออกมาพูดเรื่องนี้ รวมทั้งมีความกังวลว่าอาจจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานตนเองในอนาคต อีกทั้งปัญหาความรุนแรงที่ต้องเผชิญส่วนมากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา เนื่องจากขาดที่พึ่งที่ปลอดภัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงยากที่จะแก้ปัญหาได้
.
ยิ่งผู้ชายที่ถูกข่มขืนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมักถูกมองว่าไม่ได้เสียหายอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเพศไหนก็ได้รับความเสียหายทางร่างกายและจิตใจเหมือนกัน
.
นายจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความ เท่าเทียมกันทางเพศ และมีประสบการณ์การช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกข่มขืนหลายรายเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
.
“ปัญหาหลัก ๆ ของการดำเนินคดีด้านการข่มขืนกระทำชำเราในบ้านเราไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ที่อ่อนหรือแรงไป แต่เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า ไม่ว่าจะเรื่องของการไกล่เกลี่ยคดี หรือการเจรจาเพื่อยอมความ เหตุเพียงเพราะผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่เข้าใจถึงปัญหาได้ดีพอ”
.
ค่านิยมชายเป็นใหญ่ การยึดถือความอาวุโสและอำนาจในสังคมไทย เป็นเครื่องมือที่ ฝ่ายชายนำมาใช้ต่อรองเมื่อถูกดำเนินคดี
.
“ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือเมื่อผู้กระทำการข่มขืนในคดีนั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจ ก็อาจจะก่อให้เกิดมีการเจรจาต่อรองและไกล่เกลี่ยให้ผู้กระทำพ้นผิด ในหลาย ๆ ครั้งก็เกิดมาจากผู้ชาย ที่มีอำนาจมากกว่าในครอบครัวเป็นผู้กระทำเองอันเนื่องมาจากสังคมไทยมีวิธีการคิดแบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่”
.
เช่นเดียวกับ ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ อธิบายว่า “การกล่าวโทษเหยื่อ จะมีความรุนแรงมากน้อยก็มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ถูกกระทำคนนั้นมีแหล่งอำนาจอื่นมาสนับสนุนหรือเปล่า เช่น หากผู้ถูกกระทำคนนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะมีอำนาจมากกว่าคนที่เป็นพริตตี้ เพราะมีทั้งอัตลักษณ์ชายขอบและอัตลักษณ์กระแสหลัก ดังนั้น เมื่อมีความเป็นหญิงอยู่ในตัวจะถูกตีตรา แต่ถ้ามีอัตลักษณ์กระแสหลักอื่นๆ รวมอยู่ในตัวด้วย การถูกลงโทษอาจจะเบาบางลงในความเป็นหญิง”
.
จริงๆ เรื่องนี้แทบไม่ซับซ้อนเลย หากว่าทุกคนเข้าใจและเห็นใจผู้ถูกกระทำ เพราะการข่มขืน หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่การสมยอมหรือเต็มใจ มันเกิดจากการกระทำที่ถูกขืนกายขืนใจทั้งสิ้น
.
ถ้ามองกลับมาในมุมของตัวเองหรือคนใกล้ตัว ที่ต้องเจอสถานการณ์แบบนั้น คำถามคือเราจะพูดแบบนี้หรือไม่ จะกล่าวหาแบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่ควรพูดกับคนอื่นๆ เช่นกัน เพราะเหยื่อที่ถูกกระทำเขาก็เจ็บปวดพออยู่แล้วจากคนที่ไปล่วงละเมิด และยังต้องมาเจ็บใจกับคนอื่นๆ ที่กล่าวหาว่าเหยื่อเป็นต้นเหตุอีก
.
ที่สำคัญสังคมต้องร่วมกันปกป้องเหยื่อ เมื่อเหยื่อต้องออกมาต่อสู้ ออกมาเปิดเผยเพื่อสู้คดี ไม่ใช่ตีตราว่าเป็นบุคคลที่มลทินมัวหมอง เพราะไม่อย่างนั้นมันจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย ต่อให้จะมีโทษแรงถึงขั้นประหารชีวิตก็ตาม แต่ก็คงไม่มีทางที่การข่มขืนจะหมดลงได้
.
📌 ปัญหาเกี่ยวกับคดีความอยากได้คำตอบเพื่อหาทางออก ปรึกษากับทนายความของเราแบบรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะคดีเล็ก หรือคดีใหญ่ สามารถ inbox มาปรึกษาได้ ทนายออนไลน์ยินดีรับคำปรึกษาจากทุกท่าน