จับสังเกตวิธีหลอกเงินจากเหยื่อ ของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์
จับสังเกตวิธีหลอกเงินจากเหยื่อ ของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์

จับสังเกตวิธีหลอกเงินจากเหยื่อ
ของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์
.
ช่วงนี้เหมือนว่าการทำงานของบรรดามิจฉาชีพ ทั้งแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ หรือมี SMS ว่าได้รับเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ให้คลิกที่ลิ้งเพื่อรับเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นลิ้งค์ที่อาจจะแฮ็คเข้าระบบบนข้อมูลโทรศัพท์มือถือของคุณ จนอาจทำให้สูญเสียทั้งข้อมูลส่วนตัวและเจาะเข้าระบบการเงินได้ กำลังอาละวาดหนัก เนื่องจากอาศัยช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังต้องการเงิน หรืออับจนหนทางที่จะไปหาเงินเพิ่ม และส่วนมากมักเกิดกับคนที่ไม่ทันระมัดระวังตัวหรือไม่ได้สังเกตความผิดปกติดังกล่าว ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง
.
ดังนั้นในบทความนี้จะเป็นการเผยข้อสังเกตของพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพว่า วิธีการหลอกเอาเงินจากเหยื่อที่มักจะทำกันสำเร็จจะเป็นแนวทางไหนบ้าง ทนายออนไลน์รวบรวมมาให้เพื่อเป็นความรู้เท่าทันคนเหล่านี้และจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
.
1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต
.
เป็นกลอุบายที่มิจฉาชีพใช้บ่อยที่สุด คือหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจและง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน โดยจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือกระทำการผิดกฎหมาย โดยอาจมีเสียงอัตโนมัติ เช่น “คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตกับทางธนาคาร กด 0 เพื่อติดต่อพนักงาน” เมื่อเหยื่อตกใจ ก็จะรีบต่อสายคุยกับมิจฉาชีพทันที หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินจำนวนไม่มากนัก มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่หากเหยื่อมีเงินค่อนข้างมากจะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ
.
2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้า / ยาเสพติดหรือการฟอกเงิน
.
เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้น ๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ
.
3. เงินคืนภาษี
.
ข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
.
4. โชคดีรับรางวัลใหญ่
.
มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่าง ๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
.
5.ข้อมูลส่วนตัวหาย
.
ข้อมูลส่วนตัวหายเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการใช้บริการของเหยื่อ แต่แท้จริงแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ
.
6. โอนเงินผิด
.
มิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างนี้เมื่อมีข้อมูลของเหยื่อค่อนข้างมากแล้ว โดยจะเริ่มจากโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่า ได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรไปขอในนามของเหยื่อ
.
🔵 วิธีป้องกัน
.
1. หากได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ควรทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
.
2. ไม่โลภอยากได้เงินรางวัลที่ไม่มีที่มา
.
3. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น ถึงแม้ผู้ติดต่อจะอ้างตัวเป็นส่วนราชการหรือสถาบันการเงิน เพราะส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลวนตัวลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์
.
4. ไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติตามคำบอกของผู้ที่ติดต่อมา
.
5. ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงหรือใช้บริการ โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า (Call Center)
.
6. หากได้รับแจ้งว่ามีผู้โอนเงินผิดเข้าบัญชี ควรสอบถามสถาบันการเงินถึงที่มาของเงินดังกล่าว หากเป็นเงินที่มีการโอนผิดเข้ามาจริง จะต้องให้สถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินคืนเท่านั้น
.
🔵 สิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ
.
1. รวบรวมหลักฐานและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
.
2. ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน
.
3. หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป
.
4. แจ้งระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะสามารถคืนเงินได้
.
5. แจ้งเบาะแสไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
.
6. ทำใจ… เมื่อมิจฉาชีพได้รับเงินโอน จะรีบกดเงินออกจากบัญชีทันที ทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนนั้นน้อยมาก
.
🔵 คำถามที่พบบ่อย
.
Q : มิจฉาชีพรู้เบอร์โทรศัพท์ของเราได้อย่างไร?
A: มิจฉาชีพใช้หลากหลายวิธีในการหาข้อมูลของเหยื่อ แต่ส่วนมากมักเก็บข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ Social Media ต่าง ๆ ที่เหยื่อโพสต์เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลอื่น ๆ ไว้ เช่น วันเดือนปีเกิด ที่อยู่
.
Q : หากรู้หมายเลขบัญชีที่โอนเงินไป จะสามารถจับตัวมิจฉาชีพได้หรือไม่?
A : มิจฉาชีพมักไม่ใช้บัญชีเงินฝากของตนเองในการรับเงินโอนจากเหยื่อ แต่จะใช้วิธีจ้างคนอื่นเปิดบัญชีให้ แล้วนำบัตรเอทีเอ็มมากดเงินออกทันทีที่ได้รับเงินโอน หรืออาจใช้วิธีหลอกใช้บัญชีของเหยื่อรายอื่นเพื่อรับเงินโอน จึงทำให้การจับตัวคนร้ายตัวจริงค่อนข้างลำบาก
.
Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่ที่โทรศัพท์มา เป็นเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินจริงหรือเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ
A : มิจฉาชีพมักเลียนแบบวิธีการติดต่อของเจ้าหน้าที่ให้เหมือนจริงมากที่สุด ดังนั้น วิธีที่จะระวังและป้องกันตัวได้คือ ทบทวนสิ่งที่ได้รับแจ้งและความน่าจะเป็น หลังจากนั้นให้วางสายแล้วติดต่อไปยังสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงด้วยตนเอง สอบถามข้อเท็จจริงของเรื่องที่ได้รับแจ้ง นอกจากนี้ สถาบันการเงินไม่มีนโยบายขอข้อมูลหรือแจ้งให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์ หากมียอดค้างชำระจริง ลูกค้าสามารถชำระเองได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องทำรายการผ่านช่องทางทีละขั้นตอนตามที่มิจฉาชีพบอกนั่นเอง
.
📌 หาใครมีปัญหาเกี่ยวกับคดีความแล้วอยากปรึกษาเพื่อหาทางออกกับทนายความแบบรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะคดีเล็ก หรือคดีใหญ่ ก็ทัก inbox มาปรึกษาได้ ทนายออนไลน์ยินดีรับคำปรึกษาจากทุกท่าน