เพราะกฎหมายไทยอ่อนแอ คนเลยไม่เกรงกลัว หรือผู้บังคับใช้หละหลวม ผู้คนมักมีข้ออ้างกันแน่
เพราะกฎหมายไทยอ่อนแอ คนเลยไม่เกรงกลัว หรือผู้บังคับใช้หละหลวม ผู้คนมักมีข้ออ้างกันแน่

เพราะกฎหมายไทยอ่อนแอ คนเลยไม่เกรงกลัว
หรือผู้บังคับใช้หละหลวม ผู้คนมักมีข้ออ้างกันแน่
.
“เพราะกฎหมายไทยอ่อน..คนชั่วถึงกร่างเต็มบ้านเต็มเมือง” เรามักได้ยินหรือได้เห็นการแสดงความคิดเห็นทำนองนี้เมื่อมีข่าวอาชญากรรมที่ผู้กระทำความผิดโดนลงโทษแบบไม่ค่อยสะใจ หรือไม่สาสมกับสิ่งที่ควรจะได้รับโทษสักเท่าไหร่ เช่น ฆ่าคนตายโดยเจตนา ก็ควรที่จะถูกประหารให้ตายตกไปตามกัน เป็นต้น จนเป็นที่มาของคำพูดดังกล่าวว่าที่บอกถึงความไม่เด็กขาดของกฎหมายไทย ส่งผลทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวแล้วยังกล้าวกระทำความผิดเรื่อยๆ ซ้ำๆ จนเป็นข่าวบนหน้าหนึ่งของสื่อบ่อยๆ
.
ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายไทยนั้นอ่อนแอจนต้องเพิ่มความแรงของกฎหมายจริงหรือไม่ หรือว่าตัวบทลงโทษของกฎหมายเนี่ยมันแรงพอแล้วแต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือผู้บังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานกันแน่
.
ในความเป็นจริงทุกชนชั้นล้วนเกรงกลัวกฎหมาย หากกฎหมายที่มีอยู่บังคับใช้ได้จริง โดยไม่ต้องนำหลักแก้แค้นทดแทนหรือเอาสะใจเข้าว่ามาประกอบด้วยซ้ำไป
.
ย้อนไปในปี 2556 ชำนาญ จันทร์เรือง ขณะนั้นเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่บทความ “โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง” อ้างอิงผลการศึกษาในประเทศแคนาดา ที่พบว่าในปี 2518 ที่ยังมีโทษประหารชีวิต มีอัตราคดีฆาตกรรมอยู่ที่ 3.09 คนต่อประชากรแสนคน ต่อมาในปี 2523 ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต สถิติลดลงมาอยู่ที่ 2.41 คนต่อประชากรแสนคน และปี 2548 อยู่ที่ 2 คนต่อประชากรแสนคนตามลำดับ (และหากดูข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2560 พบว่าอยู่ที่ 1.8 คนต่อประชากรแสนคน)
.
หรือถ้าจะให้เป็นรายงานอย่างทางการกว่านั้นในปี 2557 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นำเสนอรายงาน บทสรุปทางวิชาการ “แนวทางความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล” (สามารถค้นหาบนอินเตอร์เน็ตได้ในชื่อ : เอกสารทางวิชาการประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โทษประหารชีวิตยังจำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่”) อ้างอิงผลการศึกษาและรายงานจากหลายแห่งต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่าจะมีหรือไม่มีโทษประหารก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถิติคดีอาชญากรรม
.
เช่น ในสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบระหว่างมลรัฐที่มีโทษประหารชีวิตอย่าง เท็กซัส มีคดีฆาตกรรม 5.4 คนต่อประชากรแสนคน กับมลรัฐที่ไม่มีโทษประหารชีวิตอย่าง ไอโอวา มีคดีฆาตกรรมเพียง 1.1 คนต่อประชากรแสนคน และแม้จะมีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่าการใช้โทษประหารชีวิตมีผลให้คนยับยั้งชั่งใจไม่กล้ากระทำผิด แต่ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด “คนไม่กลัวโทษหนักมากเท่ากับที่กลัวการถูกจับได้” รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าเสียมากกว่า
.
ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันอีกเสียงว่า “ลำพังการต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำถูกจำกัดเสรีภาพก็ถือว่าทำให้คนเกรงกลัวได้แล้วขอแค่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ” ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุ ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้เร็ว หลักฐานแน่นหนาไม่ผิดตัว กระทั่งศาลตัดสินจำคุก
.
กรณีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารแต่ยังมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากใช้หลักคิดแบบเดียวกันกับความผิดเรื่องอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะได้ผลไม่แตกต่าง ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวเสียหน่อย เช่น คนขับรถแท็กซี่หลายท่าน และทุกคนบอกตรงกันว่า “การที่ไม่กล้าฝ่าไฟแดงในแยกที่รู้ว่ามีกล้อง” เพราะไม่อยากถูกปรับ “เคยโดนส่งใบสั่งไปถึงบ้าน ถูกปรับเงินถึงจะจำนวนน้อยๆ ครั้งละไม่กี่ร้อยบาท แต่โดนบ่อยๆ ก็ลำบากเหมือนกัน” แถมยังมีประวัติที่ส่งผลต่อการต่อใบขับขี่สาธารณะอีกต่างหาก
.
ฉันใดก็ฉันนั้น..ที่ผ่านมาคนไทยมักจะมองอย่างทำใจว่า “ดูเหมือนกฎหมายไทยจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย” เพราะเมื่อเกิดคดีความไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ “มักจะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเสมอว่าบรรดาคนใหญ่คนโตก็ดี หรือคนในสังกัดของคนใหญ่คนโตนั้นก็ตาม พอไปทำผิดก็จะมีกระบวนการบางอย่างเข้าไปช่วยเหลือให้หลุดคดีไม่ต้องรับโทษ” หรือแม้กระทั่งช่วยพาหลบหนีกรณีศาลมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อได้เห็นได้ยินเรื่องแบบนี้บ่อยครั้งเข้า “ใครจะเคารพยำเกรงกฎหมาย” มีแต่จะยิ่งพยายามไปขอฝากเนื้อฝากตัวกับผู้มีอำนาจ หรือเป็นผู้มีอำนาจเสียเอง
.
ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยควรเรียกร้องคือ “ทำอย่างไรกระบวนการบังคับใช้กฎหมายจึงจะมีประสิทธิภาพและเสมอหน้าอย่างแท้จริง” อย่างที่ประเทศเจริญแล้วเขาเป็นอยู่ น่าจะเป็นวิธีคิดที่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่าหรือไม่?
.
แต่ถึงอย่างไร คนไทยมักมีนิสัยการใช้อารมณ์ตัดสินมากกว่าความคิดด้านอื่นประกอบ เช่น ถ้าหากผู้กระทำความผิดเป็นคนอื่นที่เห็นตามข่าว ก็มักจะเชียร์ให้ลงโทษแบบแรงๆ หนักๆ ไปเลย เพื่อความสะใจ แต่ถ้าหากเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเองหรือคนใกล้ตัว ทำให้เสียผลประโยชน์หรือไม่ได้รับความสะดวกสบายเหมือนเดิม ความคิดจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบทันที จะกลายเป็นความคิดว่ารัฐใช้กฎหมายรังแกประชาชน เช่น การที่มีช่วงหนึ่งเคยจะมีกฎหมายสั่งห้ามนั่งท้ายรถกระบะ เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นมามันจะเกิดความสูญเสียกับผู้ที่อยู่ท้ายรถ และในหลายประเทศก็ห้ามผู้โดยสารนั่งท้ายรถเช่นกัน หรือการประชาชนขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศร หรือขับบนทางเท้า โดยอ้างว่าการไปกลับรถนั้นไกล ไม่สะดวกสิ้นเปลืองน้ำมัน เสียเวลาเดินทาง แต่พอสั่งห้ามหรือมีมาตรการเข้มงวดก็ออกมาด่าหาว่าไม่เห็นใจประชาชน
.
สุดท้ายคนเรามักมองความผิดคนอื่นใหญ่เท่าภูเขาแล้วต้องการถล่มภูเขานั้นให้ราบคาบ แต่พอเป็นความผิดตัวเองมักมีข้ออ้างให้ดูชอบธรรมเสมอ