กู้เงินทางแชท ‘เหนียวหนี้’ ทวงยังไงก็ไม่คืน มีวิธีจัดการโดยไม่ต้องประจาน
กู้เงินทางแชท ‘เหนียวหนี้’ ทวงยังไงก็ไม่คืน มีวิธีจัดการโดยไม่ต้องประจาน

แก้เผ็ดลูกหนี้กู้เงินทางแชท ‘เหนียวหนี้’
ทวงยังไงก็ไม่คืน มีวิธีจัดการโดยไม่ต้องประจาน
.
การกู้ยืมผ่านแชทข้อความ เป็นวิธีการขอกู้เงิน ยืมเงินที่ง่ายในยุคนี้ เพราะใครๆ ต่างก็มีมือถือ เล่นไลน์ เล่นโซเชียลมีดียเดีย หรือส่งข้อความมากู้ยืมเงินกัน
.
อย่างที่ทางแอดเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการใช้หลักฐานการแชทกู้ยืมเงิน สามารถมีผลทางกฎหมายได้ไม่ต่างอะไรกับเอกสารกระดาษที่มีการลงลายมือชื่อ เมื่อต้องมีการติดตามทวงถามหนี้ แต่ก็อย่างว่าแหละ คนมันจะเหนียวหนี้ ไม่ยอมจ่ายเงินคืนให้กับผู้ให้กู้ยืม จนเจ้าหนี้ต้องตามทวงแล้วทวงอีกจนอ่อนใจ พูดดีก็แล้ว พูดขู่ก็แล้ว ขอร้องก็แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ลูกหนี้ที่ไม่น่ารักบางคนจะชำระเงินคืน
.
ฉะนั้นแอดมีวิธีในการแก้เผ็ดลูกหนี้ เหนียวหนี้ แบบถูกกฎหมาย ไม่ต้องไปโพสต์ประจานให้คดีเข้าตัวเอง แต่เชื่อว่าได้ผลเกือบ 100% อย่างแน่นอน
.
ในกรณีที่กู้ยืมเงินผ่านแชทข้อความ แน่นอนว่าเรามีข้อความต่างๆ รวมทั้งหลักฐานการโอนเงินไว้ทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนแรกคือเก็บหลักฐานการยืมทั้งหมดเอาไว้ก่อน แคปหน้าจอเก็บไว้เพื่อเป็นสำเนา เผื่อว่าวันดีคืนร้ายเกิดไลน์เจ๊ง ข้อความหายหมด จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง
.
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
.
ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 บัญญัติว่า
.
“ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ดังนั้น โดยผลของกฎหมายตามมาตรา 7 ดังกล่าว ผู้กู้ยืมเงินจึงไม่อาจที่จะปฏิเสธความผูกพันกับผู้ให้กู้ยืมเงินตามข้อความที่มีการสื่อสารส่งข้อความสื่อสารกันผ่านทางไลน์ (LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) ซึ่งตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ยังได้บัญญัติให้การจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาให้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และให้ถือว่าข้อความนั้น เป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ตามมาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว”
.
โดยผลของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าการส่งข้อความสื่อสารกันผ่านทางไลน์ (LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) ระหว่างผู้ให้กู้ยืมเงินกับผู้กู้ยืมเงินนั้น เป็นหลักฐานเป็นหนังสือโดยที่มีผู้กู้ยืมได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้ว ประกอบกับมาตรา 653 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
.
ชัดเจนนะ สำหรับการกู้ยืมผ่านแชทข้อความ มีผลทางกฎหมายทั้งสิ้น
.
แน่นอนว่าการทวงเงินจะไม่เกิดขึ้นแค่ครั้งหรือสองครั้งแล้วจะได้คืนทุกคนแน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่หลายคนเจอแบบทุกวันนี้ ลูกหนี้มีทั้งประเภท ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย กับประเภท มี หนี และไม่จ่าย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ไม่โอเคทั้งคู่ เพราะเป็นหนี้ก็ต้องใช้คืน
.
ดังนั้น หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา คุณลูกค้าย่อมมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยต่อศาลได้ โดย นำหลักฐานการกู้ยืมเงินทั้งหมดไปปรึกษาทนาย เพื่อฟ้องคดี โดยในการฟ้องศาลจะต้องชำระค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้อง
.
หรือถ้ายังไม่ฟ้อง แต่จะออกหนังสือทวงถามก่อนก็ได้เช่นกัน ก็ให้ปรึกษาทางสำนักทนายความ เพื่อให้ออกหนังสือทวงถาม (โนติส) ไปยังลูกหนี้ ซึ่งแต่ละที่หรือทนายความแต่ละคนก็จะมีค่าทำโนติสแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ราคาพันต้นๆ ต่อ 1 ฉบับ
.
แต่ถ้าต้องการฟ้องทนายความก็จะมีกระบวนการดังนี้
1. ออกหนังสือทวงถามถึงลูกหนี้ (ให้เวลา 7 วัน) เพื่อให้ลูกหนี้ชำระเงินกู้ยืม
2. หากลูกหนี้เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ก็จะยื่นเรื่องส่งฟ้องเป็นคดีต่อศาล
3. เมื่อถึงในวันฟ้อง ศาลจะนัดพร้อมหรือสืบโจทก์ และสืบจำเลยตามกระบวนการ
.
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เราแค่เห็นหนังสือทวงหนี้จากทนายไปเสียบที่หน้าบ้านก็กลัวกันแล้ว และจะรีบติดต่อมายังเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาไกลเกลี่ย ไม่ให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
.
อีกทั้งถ้ายอดหนี้ไม่สูงมากเช่นหลักพัน หรือหลักหมื่นบาท การดำเนินการฟ้องร้องอาจจะไม่คุ้มค่า เพราะแค่ค่าทนายความในการดำเนินคดีให้อย่างต่ำก็ 10,000 บาท แล้ว กว่าจะจบเรื่องก็อาจจะต้องจ่ายค่าทนายมากกว่าเงินที่ได้คืนมาบวกกับดอกเบี้ยเสียอีก
.
ดังนั้นถ้ามูลค่าหนี้ไม่มากแนะนำให้ออกหนังสือทวงถาม ส่งไปที่อยู่ของลูกหนี้เลยจะดีกว่า เพราะเมื่อหนังสือไปถึงบ้านแล้ว เกือบ 100% ยังไงก็ต้องติดต่อกลับมาพูดคุยหรือเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างแน่นอน
.
และขอให้เจ้าหนี้ทั้งหลายอย่าไปโพสต์ประจานบนโซเชียลเด็ดขาด เพราะแม้ว่าเขาจะเป็นลูกหนี้ แต่ถ้าโพสต์ประจานแล้วผู้โพสต์ก็มีความผิดเช่นกัน เจอทั้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท บอกเลยว่าไม่คุ้ม
.
ทวงเงินแบบผู้ดีมีการศึกษา ใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ดีกว่าเชื่อสิ…