เป็นหนี้นอกระบบจ่ายไม่ไหว เจ้าหนี้ขู่ฟ้อง ขู่ญาติต้องร่วมชดใช้ ขู่ประจาน ทำได้หรือ?
เป็นหนี้นอกระบบจ่ายไม่ไหว เจ้าหนี้ขู่ฟ้อง ขู่ญาติต้องร่วมชดใช้ ขู่ประจาน ทำได้หรือ?

เป็นหนี้นอกระบบจ่ายไม่ไหว เจ้าหนี้ขู่ฟ้อง
ขู่ญาติต้องร่วมชดใช้ ขู่ประจาน ทำได้หรือ?
.
ปัญหาเรื่องไปกู้เงินนอกระบบมาแล้วต้องเจอกับดอกเบี้ยมหาโหด แถมยังใช้คืนไม่ไหว ซ้ำร้ายบางรายโดนเจ้าหนี้ข่มขู่จะฟ้องลูกหนี้ไม่พอ ขู่จะฟ้องพ่อแม่ ญาติพี่น้องของลูกหนี้ และจะประจานต่อสาธารณะชนอีกด้วย
.
เชื่อว่าใครที่เจอเหตุการณ์นี้คงจะอกสั่นขวัญแขวนอยู่ไม่น้อย เพราะกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดียังไม่พอ อาจพาคนรอบตัวต้องเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งในทางกฎหมายนั้นสามารถทำได้หรือไม่ ทนายออนไลน์มีคำตอบ
.
🔵 กรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้อง ต้องดำเนินการอย่างไร?
คำตอบ : เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี”
.
เพราะฉะนั้น หากผู้ให้กู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การเรียกดอกเบี้ยเกินกำหนดจึงตกเป็น “โมฆะ” ซึ่งจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ ดอกเบี้ยที่ผู้ให้กู้เรียกจึงเป็นโมฆะ บังคับไม่ได้
.
แต่อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ยังต้องชำระเงินต้นให้แก่ผู้ให้กู้ แต่เงินที่ชำระเป็นค่าดอกเบี้ย ลูกหนี้สามารถนำมาหักออกจากเงินต้นได้
.
🔵 พ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีส่วนต้องถูกบังคับคดีให้ชำระหนี้ร่วมด้วยหรือไม่?
คำตอบ : ไม่ต้อง บุคคลที่จะถูกบังคับให้ชำระหนี้คือคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่จะถูกบังคับได้เพียงครึ่งเดียว หากทรัพย์สินที่เจ้าหนี้บังคับถือเป็นสินสมรส
.
ถ้าไม่มีทรัพย์สินให้บังคับจ่าย สามารถผ่อนชำระต้นคืนได้หรือไม่?
คำตอบ : กรณีนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาผ่อนผ่อนกับเจ้าหนี้ และขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ว่าจะยอมรับหรือไม่ แต่ถ้าลูกหนี้ไม่มีสินทรัพย์ เจ้าหนี้ก็บังคับอะไรไม่ได้
.
🔵 หากเจ้าหนี้ข่มขู่ว่าจะประจานต่อสังคม ทำได้หรือไม่?
คำตอบ : เจ้าหนี้ไม่มีสิทธินำเรื่องการเป็นหนี้ออกมาประจาน เพราะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และหากประจานทางโซเซียล ก็จะมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งมีโทษหนักขึ้น ตามบทบัญญัติ ดังนี้
.
มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
.
แม้ข้อความที่ประจานเป็นความจริงก็มีความผิด เพราะเจ้าหนี้สามารถใช้สิทธิทางศาลได้อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิประจาน