เตือนภัย! ระวัง SMS สมัครสินเชื่อเถื่อน
เตือนภัย! ระวัง SMS สมัครสินเชื่อเถื่อน

เตือนภัย! ระวัง SMS สมัครสินเชื่อเถื่อน
อ้างอยากได้เงินต้องโอนมัดจำก่อน
.
เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพมีการพัฒนาทักษะการหลอกลวงเหยื่อสารพัดวิธี โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ที่คนต้องการหาเงินเดือน เงินเร็ว เงินไว เพื่อมาใช้จายเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และเกราะป้องกันความระมัดระวังตัวจะต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ
.
วันนี้มีการเตือนภัยวิธีการหลอกเหยื่อโดยอ้างว่าเป็นบริษัทด้านสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการส่ง SMS หรือส่งไลน์เข้ามา พร้อมกับลิงค์ให้เรากดเข้าไปกรอกข้อมูลต่างๆ โดยระบุว่า การขอสินเชื่อจากทางบริษัทไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลบัญชีเดินสะพัด ไม่ต้องมีหลักฐานเอกสารยืนยันตัวตนใดๆ เพียงแค่เข้าไปกรอกข้อมูลบนเอกสารที่ทางนั้นส่งมาให้
.
เมื่อกรอกเสร็จแล้วผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อจะต้องโอนเงินมัดจำ เพื่อเป็นหลักประกันเอาไว้ก่อนที่ทางบริษัทที่กล่าวอ้างจะโอนเงินตามวงเงินที่ขอสินเชื่อไปมาให้ภายหลัง
.
ซึ่งเรื่องนี้มีผู้ที่ติดตามเพจทนายออนไลน์ ได้สอบถามมายังทีมทนายความของเพจ พร้อมกับแนบหลักฐานการสนทนา และสัญญาการขอสินเชื่อมาให้ทางเพจช่วยตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีอยู่จริงตามการจดแจ้งประกอบธุรกิจกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และที่น่าสงสัยก็คือหากจะขอสินเชื่อให้โอนเงินมัดจำไปก่อนจำนวนหนึ่ง และทางมิจฉาชีพจะโอนเงินตามวงเงินของสินเชื่อเข้าบัญชีในภายหลัง
.
ซึ่งตามปกติแล้วการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร หรือสถานบันการเงินต่างๆ จะไม่มีการให้ผู้ต้องการกู้ หรือขอสินเชื่อโอนเงินมัดจำใดๆ ไปก่อนอย่างแน่นอน แต่จะมีการเช็คตามข้อมูลทางการเงิน โดยหากขอสินเชื่อกับทางธนาคารที่เราเป็นลูกค้าอยู่แล้วก็จะมีฐานข้อมูลทางการเงินนระบบ แต่ถ้าเป็นการขอสินเชื่อในสถาบันการเงินอื่น ก็จะต้องมีเอกสารการขอสินเชื่ออย่างถูกต้อง
.
หากใครที่พบ SMS หรือข้อความในเชิงที่จะมาชวนให้ขอสินเชื่อหรือกู้เงิน โดยมีลิงค์แปลกๆ แนบท้ายมาให้พึงระลึกไว้ก่อนเลยว่า ไม่ใช่ของจริง และไม่ควรที่จะกดคลิกเข้าไป เพราะเพียงแค่การคลิกเพื่อเข้าไปดูข้อมูลก็เท่ากับการให้มิจฉาชีพเข้าถึงอุปกรณ์ของเรา ซึ่งสามารถส่งสแปมเข้ามาเจาะข้อมูลของเรา รวมทั้งข้อมูลทางการเงิน ซึ่งจะทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วไหล และอาจดูดเงินจากบัญชีธนาคารของเราไปอีกด้วย
.
ดังนั้นหากเจอ SMS หรือข้อความเหล่านี้ เตือนว่าอย่ากดเข้าไปเด็ดขาด หรือถ้าหากมีการสนทนากับมิจฉาชีพและมีการส่งหนังสือสัญญาการขอสินเชื่อมาแล้ว ให้ลองนำชื่อของบริษัทดังกล่าวไปค้นหาบนเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เพื่อเช็คว่าบริษัทดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ แต่ทางที่ดีอย่ากด อย่าคลิก อย่ากรอกข้อมูลอะไรจะเป็นการดีที่สุด แต่ถ้าหากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นพนักงานจากธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อต่างๆ ที่มีชื่อเสียง ให้ตรวจสอบกับทางธนาคารต้นทางจะดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยของตัวเรานั่นเอง