ข่าวดัง! บริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์โควิด
ข่าวดัง! บริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์โควิด

ข่าวดัง! บริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์โควิด
การบอกเลิกนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
กรณีที่ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งได้บอกเลิกกรรมธรรม์ ประชาชนที่ทำประกันภัยการติดเชื้อโควิด จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมต่อการกระทำในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ในทางกฎหมายนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่?
.
หลักการเรื่องนี้คือ กฎหมายระบุไว้ชัดว่าประชาชนผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัส มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ บริษัทตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนหากผู้ทำประกันภัยติดเชื้อ บริษัทก็ต้องทำตามสัญญาคือการใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ ผูกพันสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด
.
เมื่อได้หลักความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยแล้ว ก็ต้องมาดูว่ากรณีที่จะยกเลิกสัญญาประกันภัย ทำได้เพราะเหตุใดบ้าง หลักกฎหมายก็กำหนดไว้ชัดอีกว่า หากมีการแถลงข้อความอันเป็นเท็จหรือรู้อยู่แล้วไม่บอกความจริง สามารถบอกเลิกได้ เช่น บอกว่าตัวเองติดเชื้อ แต่พอตรวจสอบแล้วปรากฎว่าไม่ติดเชื้อ นี่ถือว่าเป็นการแจ้งอันเป็นเท็จ โดยอาจมีจุดประสงค์อยากได้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่อย่างไร ซึ่งบริษัทสามารถยกเลิกสัญญาได้
.
กรณีบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง อ้างเหตุบอกเลิกสัญญาตามกรมธรรม์ ”ข้อ 2.4.3 ที่ระบุการสิ้นสุดความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันภัยหรือบริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนดข้อ 2.5 และอ้างเหตุตาม ข้อ 2.5.1. ที่ระบุว่า
.
“บริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วันโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัยตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบโดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัยนี้บริษัทจะไม่คืนเบี้ยประกันภัยที่ได้เรียกเก็บมาแล้วเพราะเหตุแห่งการฉ้อฉลหรือการทุจริตดังกล่าวข้างต้นและบริษัทจะไม่รับผิดสำหรับการเรียกร้องค่าทดแทนอันเกิดจากการกระทำดังกล่าว”
.
จากกรณีที่มีการอ้างตามกรมธรรม์ในข้อ 2.4.3. และข้อ 2.5.1. ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายและกรมธรรม์ การจะเลิกสัญญาได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องมีเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กรณีการปกปิดความจริง การทุจริตฉ้อฉล หากไม่มีเหตุย่อมไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้
.
เท่ากับว่าการบอกเลิกสัญญาประกันภัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
อย่างที่รู้คือ การผู้คนมาทำประกันโควิด ก็เพื่อต้องการมีหลักประกันบางอย่างในชีวิต กรณีหากว่าต้องติดเชื้อจนป่วยและต้องรักษาตัว หรือว่าเสียชีวิตก็ตาม แต่การที่บริษัทมาบอกยกเลิกสัญญาเนื่องจากมีผลกระทบต่อบริษัท จากการที่มีผู้เคลมเบี้ยประกันสูงขึ้น จนบริษัทเกิดความเสี่ยง ซึ่งในจุดนี้อาจไม่ใช่เหตุผลมากเพียงพอที่จะมาขอยกเลิกสัญญา
.
เพราะก่อนที่จะมีการนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทสู่ท้องตลาด คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็มีการสอบถามแล้วว่าบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงิน มีความพร้อมเพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งถ้ามีความพร้อมก็สามารถออกผลิตภัณฑ์นี้ได้ และต้องดูแลผู้เอาประกัน ซึ่งมีสถานะเป็นลูกค้าให้ตลอดรอดฝั่ง และผู้เอาประกันไม่ควรจะต้องมาแบกรับความเสี่ยงใดๆ กับบริษัทด้วย
.
ฝ่ายกฎหมายของบริษัทประกันจะต้องดู พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 4 ที่ระบุสาระสำคัญไว้ชัดคือ ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
.
ผู้ที่ทำประกันภัยกับบริษัทไม่จำเป็นต้องรับคืนค่าเบี้ยประกันที่บริษัทจะจ่ายคืน เพราะสัญญายังสมบูรณ์ และเมื่อผู้ทำประกันติดเชื้อโควิดแล้ว ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้คือ 100,000 บาท
.
ขณะที่เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ ออกโรงแล้วถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ โดยขออ้างอิงเนื้อหาจากกรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า ทาง คปภ. ไม่เห็นด้วย แม้เงื่อนไขของกรมธรรม์จะเปิดช่อง แต่ไม่ควรทำอย่างยิ่งในขณะนี้ ซึ่งทาง คปภ. มีนโยบายมาโดยตลอดว่าให้บริษัทคำนึงถึงขีดความสามารถในการรับประกันโควิด เพราะในสถานการณ์นี้ประชาชนกำลังเดือดร้อน ระบบประกันควรเข้ามาช่วยดูแลประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทไม่เคยแจ้งให้ คปภ.รับทราบมาก่อนว่าจะมีการบอกเลิก
.
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เร่งหารือกับตัวแทนของบริษัท เพื่อขอให้ยกเลิกการออกประกาศบอกเลิกการประกันภัยโควิดโดยด่วน เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม
.
แต่หากบริษัทดังกล่าว ยังไม่ยอมทำตาม คปภ.ก็พร้อมยกระดับ ใช้แนวทางทางกฎหมายบังคับห้ามบอกเลิกประกันโควิด เพื่อให้คุ้มครองแก่ประชาชนต่อไป ซึ่งเป็นอำนาจของ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน
.
ขอให้ประชาชนยังเพิ่งกังวลหรือตื่นกลัว เพราะตอนนี้การบอกเลิกก็ยังไม่มีผลทันทีจะมีผลหลัง 30 วันนับจากประกาศ แต่ระหว่างนี้ คปภ.ก็พร้อมเข้าไปดูแลคุ้มครองผู้เอาประกัน และห้ามไม่ให้มีการยกเลิก